ซื้อ SSF หรือ RMF ให้เหมาะกับระดับความเสี่ยง


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด


เหลือเวลาอีกเพียงเดือนกว่าๆ ก็จะสิ้นปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน ถ้ามองในมุมของการลงทุน ก็อาจถือเป็นช่วงของการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยการทยอยลงทุนในหุ้น สะสมเพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนนักลงทุนที่เป็น momentum investor ก็อาจสร้างผลตอบแทนที่ดีจากความผันผวนของตลาดในปีนี้  ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ในปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ลงทุนจำนวนมากได้หันไปลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ  ส่งผลให้กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศในปีนี้มีเงินไหลเข้ากว่า 2.18 แสนล้านบาท (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 29 ต.ค. 2564 ประเมินโดยใช้ข้อมูลจาก Morningstar)

ในช่วงปลายปีแบบนี้ หลายท่านอาจกำลังพิจารณาถึงการลงทุนในกองทุน SSF และ RMF เพื่อการเก็บออมสำหรับอนาคต และเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณที่มาพร้อมสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีกันอยู่ 
 

สมมุติว่าท่านนักลงทุนตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกลงทุนใน SSF หรือ RMF ขั้นตอนต่อมาก็คือการเลือกประเภทกองทุน ซึ่งเป็นปกติที่สิ่งแรกที่นักลงทุนมักจะคิดถึงก็คือ กองทุนไหนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ แต่ในหลักของการลงทุนแล้วสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ เพราะกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน
SSF และ RMF มีกองทุนให้เลือกหลากหลายประเภท ตั้งแต่กองทุนตลาดเงินที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐของไทยซึ่งมีระดับความเสี่ยงต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ ผลตอบแทนที่จะได้รับก็น้อยตามไปด้วย ไปจนถึงกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากอย่างกองทุนที่มีนโยบายการลงในหุ้นเฉพาะกลุ่มซึ่งจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงทีเดียว
 

ดังนั้น ใครที่รับความเสี่ยงได้ต่ำมาก คือไม่อยากเห็นเงินลงทุนของตนเองขาดทุนมาก และรับได้ที่ผลตอบแทนอาจจะพอๆ กับดอกเบี้นเงินฝากหรือสูงกว่าไม่มากนัก ก็น่าจะเหมาะกับ SSF และ RMF ประเภทที่เป็นกองทุนตลาดเงิน 
สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้นในระดับถัดมา คือสามารถรับความผันผวนของผลตอบแทนการลงทุนได้มากขึ้น  เช่น ผลตอบแทนการลงทุนในบางช่วงอาจขาดทุนระหว่าง 3 เดือนถึงประมาณ 1 ปี แต่ในระยะยาวก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและชนะอัตราเงินเฟ้อ ก็อาจพิจารณา SSF และ RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ หรือกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ
ส่วนผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง คือสามารถยอมรับได้ว่าผลตอบแทนการลงทุนอาจผันผวนมากในระยะสั้นแต่ตั้งเป้าหมายผลตอบแทนสูงในระยะยาว เช่น อาจขาดทุนมากกว่า 30% ยาวนานเป็นปี ในขณะที่บางช่วงก็อาจได้รับผลตอบแทนสูงก็อาจพิจารณาลงทุนในSSF และ RMF ที่เน้นลงทุนในหุ้นในประเทศ หรือหุ้นต่างประเทศได้เช่นกัน


อย่าลืมว่าเราไม่จำเป็นต้องลงทุนใน SSF หรือ RMFกองทุนเดียว และไม่จำเป็นต้องลงทุนในกองทุนเดิมทุกปี เราอาจแบ่งเงินลงทุนไปลงทุนใน SSF หรือ RMF หลากหลายประเภทเพื่อกระจายการลงทุนและลดความเสี่ยงได้ เช่น อาจพิจารณาแบ่งเงินลงทุนครึ่งหนึ่งไปลงทุนใน SSF ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ และอีกครึ่งหนึ่งลงทุนใน SSF ตราสารทุน หรืออาจเลือกกองทุนที่เป็นกองทุนผสมที่มีให้เลือกหลากหลายเข่นกัน โดยในปี 2563 ที่ผ่านมากองทุนผสมที่เน้นสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอได้รับความสนใจอย่างมาก ก่อนที่ในปีนี้กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศจะได้รับความสนใจอย่างโดนเด่นจากการที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าผลตอบแทนในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุน การลงทุนในตราสารหนี้ยังคงมีแนวโน้มที่จะยังคงสร้างผลตอบแทนได้ต่ำ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ที่ระดับต่ำ และอาจได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคตข้างหน้า  ในขณะที่การลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว นักลงทุนบางท่านอาจกังวลว่าแพงไปหรือไม่ เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปเป็นขาขึ้นมายาวนานและทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ในกรณีนี้ การปรับขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด จึงพอที่จะอุ่นใจได้บ้างว่าการปรับขึ้นของตลาดดังกล่าวมีปัจจัยพื้นฐานรองรับ  

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจพิจารณาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน SSF และ RMF ที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่เป็นเทรนด์การเติบโต เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอให้กับพอร์ตการลงทุน โดยเทรนด์การลงทุนที่น่าสนใจ เช่น การลงทุนในธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วย “ลด” ผลกระทบ หรือ “ปรับ” รูปแบบธุรกิจให้สามารถเติบโตท่ามกลางภาวะ Climate Change และการลงทุนในหุ้นเติบโตสูงทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี  รวมถึงการลงทุนในบริษัทเจ้าของแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำระดับโลกที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน   เป็นต้น

ข้อมูลกองทุน SSF / RMF แนะนำของ บลจ.กรุงศรี คลิกที่นี่  

SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม I RMF  ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน/ ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน

พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 







สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว