ตลาดหุ้นจีน ตลาดแห่งความหวัง


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด


บรรยากาศการลงทุนโดยทั่วไปในขณะนี้ยังคงไม่สดใสอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยลบหลักได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนอุปทาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ผลักดันให้เงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ธนาคารกลางหลักหลายแห่งทั่วโลกมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อฉุดให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันมีส่วนสำคัญอย่างมาก เนื่องจากน้ำมันเป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ โดยหากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียยังไม่ยุติ ราคาน้ำมันก็ยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อไป เพราะทางกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร ซึ่งรวมถึงรัสเซีย เห็นตรงกันว่าการผลิตน้ำมันทั่วโลกไม่ได้ลดลง แต่ปัญหาอุปทานน้ำมันตึงตัวมาจากการที่รัสเซียไม่สามารถส่งน้ำมันไปยังหลายประเทศได้ อีกทั้งกลุ่มโอเปกก็ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มาก เนื่องจากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำมาก หลายประเทศจึงไม่ได้มีการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดังนั้นปัญหาเงินเฟ้อจึงมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ โดยในปีหน้าเงินเฟ้ออาจจะชะลอตัวลงจากผลของฐานราคาน้ำมัน แต่ราคาสินค้าอื่นๆอาจทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้น

สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารหลายประเทศจะส่งผลให้มีแรงกดดันต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจ ในขณะที่ภาคครัวเรือนอาจชะลอหรือลดการใช้จ่ายเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยนักวิเคราะห์ต่างกังวลว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคต  ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรกของปีนี้หดตัว 1.6% และโมเดล GDPNow ของธนาคารกลางสหรัฐสาขาแอตแลนต้า ล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจหดตัว 2.1% ในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา (ข้อมูลก่อนการเปิดเผยตัวเลขของ GDPNow ครั้งใหม่ ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันที่ 7 ก.ค.)

จากหลากหลายปัจจัยลบดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นและตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนเป็นลบในปีนี้ โดยดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ของสหรัฐให้ผลตอบแทนครึ่งปีแรกแย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ในขณะที่ดัชนีนาสแด็กของสหรัฐให้ผลตอบแทนครึ่งปีแรกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาเงินเฟ้อ และการคุมเข้มทางการเงินในครั้งนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยจีนดูเหมือนเป็นประเทศที่น่าจะมีความโดนเด่นที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อของจีนไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากนัก เพราะจีนสามารถซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย และรัฐบาลจีนควบคุมราคาสินค้าหลายประเภท นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินและรัฐบาลจีนทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย เช่น มาตรการลดและยกเว้นภาษี ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นต้น  สำหรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจีนอาจได้รับผลกระทบอยู่บ้าง เนื่องจากจีนเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก แต่การส่งออกสินค้าและบริการของจีนคิดเป็นสัดส่วนราว 19% ของจีดีพีในปี 2564 เทียบกับการลงทุนที่คิดเป็นสัดส่วนราว 49% ของจีดีพี การบริโภคภาคเอกชนคิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของจีดีพี และการใช้จ่ายภาครัฐที่คิดเป็นสัดส่วน 14% ของจีดีพี ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจจีนยังสามารถเติบโตได้ดีถึงแม้การส่งออกชะลอตัวลง นอกจากนี้ การที่สหรัฐมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายการกีดกันสินค้าจากจีนเพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐ จะช่วยหนุนให้การส่งออกของจีนเติบโตได้ดีขึ้นท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ในแง่ของความถูกหรือแพงโดยพิจารณาจาก P/E ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า ค่า P/E ดัชนี Shanghai Composite ของจีน ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 13.66 เท่า เทียบกับ S&P500 ของสหรัฐที่ 19.19 เท่า DAX ของเยอรมนีที่ 11.21 เท่า FTSE100 ของอังกฤษที่ 16.44 เท่า และตลาดหุ้นไทยที่ 16.56 เท่า บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นจีนยังถูกกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่า ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มหดตัวและอาจขยายตัวต่ำต่อเนื่องในอนาคต จะส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกเร็วขึ้น

การที่หลายประเทศมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะชะลอหรือหดตัว ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายรายหันมาให้น้ำหนักการลงทุนในจีนมากขึ้นจากการที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ โดยในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลก
ในแง่ของความเสี่ยง การที่รัฐบาลจีนยังคงใช้มาตรการโควิดเป็น 0 อาจส่งผลให้มีการล็อคดาวน์เป็นช่วงๆ ในขณะที่การเจรจาคลายความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐยังมีมาตรการลงโทษบริษัทจีนอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ตลาดหุ้นจีนเป็นตลาดที่มีความผันผวนสูง และที่ผ่านมารัฐบาลจีนเข้าแทรกแซงตลาดหุ้นจีนเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นร้อนแรง


สำหรับกองทุนที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นจีนของ บลจ. กรุงศรีฯ มีให้เลือกหลาย เช่น KF-CHINA ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง KFACHINA-A ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในจีนแผ่นดินใหญ่ KFCMEGA-A ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในประเทศจีนและมีแนวโน้มได้ประโยชน์จากการเติบโตของเมกะเทรนด์ รวมถึงกองทุนรวมประหยัดภาษีอย่าง KFACHINSSF KFACNIHRMF และ KFCHINARMF  ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมจากผู้ให้คำแนะนำการลงทุน และศึกษาข้อมูลเพื่อสามารถที่จะพิจารณาเลือกลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงของท่าน

กองทุนกรุงศรีที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นจีน คลิก:
KF-CHINA | KFACHINA-A | KFCMEGA-A
KFACHINSSF | KFACNIHRMF | KFCHINARMF

พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 








ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว