แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ปี 2561



แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ปี 2561

โดยศิริพร สินาเจริญ, CFA กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี

ตลาดตราสารหนี้ในปี 2560 สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าที่เคยคาดไว้ในช่วงต้นปีมาก ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงต้นปีมีความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นและเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายการปฎิรูปภาษีครั้งใหญ่ภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่อัตราเงินเฟ้อออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดทั่วโลก ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในสหรัฐมีปัญหาความขัดแย้งสูงจนไม่สามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญได้เลย ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐปรับลดลง แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มดำเนินนโยบายลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางลง ตลอดจนมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบายไปแล้วถึงสองครั้งในปีนี้และคาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคม ด้านตลาดตราสารหนี้ของไทยก็มีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยปรับลดลงตั้งแต่ต้นปีโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 0.2 ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือระยะกลางถึงยาวสามารถสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีในปีนี้ 
 
สำหรับแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในปีหน้า ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอีกปีหนึ่ง และตลาดตราสารหนี้ไทยมีโอกาสที่จะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงเท่าปีนี้ เนื่องจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เคยส่งเสริมให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงในปีนี้ อาจจะเปลี่ยนทิศทางในปีหน้า โดยหากมองจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย เริ่มจากอัตราเงินเฟ้อที่ปีนี้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำตลอดปี อาจมีแรงกดดันจากราคาพลังงานให้เพิ่มสูงขึ้นได้ในปีหน้า ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องถึงปีหน้า ภายหลังจากที่ขยายตัวสูงกว่าคาดหมายถึงร้อยละ 4.3 ในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยได้รับปัจจัยหนุนทั้งจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการเติบโตจากการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 
 
เมื่อหันไปมองดูปัจจัยต่างประเทศก็จะพบว่าบรรยากาศโดยรวมดูไม่เอื้อต่อตลาดตราสารหนี้เช่นกัน ทั้งแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางฟื้นตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและการตึงตัวของตลาดแรงงานในหลายประเทศ และในส่วนของประเทศสหรัฐก็มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะสามารถผลักดันนโยบายการปฎิรูปภาษีผ่านรัฐสภาได้สำเร็จภายในปีนี้ภายหลังจากที่ ร่างกฎหมายปฎิรูปภาษีได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขั้นตอนถัดไปจะเป็นการเจรจาเพื่อขอความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งหากสามารถตกลงกันได้อย่างรวดเร็วก็อาจเห็นนโยบายดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ทันในปีหน้าเลย นอกจากนั้นในประเด็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินในต่างประเทศในปีหน้าคาดว่าจะเห็นธนาคารกลางสหรัฐทยอยลดขนาดงบดุลลงต่อเนื่องตามแผน และมีการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อเริ่มเร่งตัวขึ้นก็อาจเห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าปีนี้ได้ ในขณะที่ธนาคารกลุ่มประเทศในยุโรปก็มีแนวโน้มจะลดการใช้นโยบายการผ่อนคลายเชิงปริมาณลงภายหลังเศรษฐกิจยุโรปมีการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น 
 
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมแล้ว คาดว่าตลาดตราสารหนี้น่าจะมีความผันผวนสูงขึ้น โดยในช่วงปลายปีนี้มีปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนควรติดตามนอกเหนือจากประเด็นเรื่องนโยบายภาษีของสหรัฐแล้ว ยังมีปัจจัยความเสี่ยงด้านการเมืองในยุโรป โดยเฉพาะแผนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของประเทศเยอรมัน ที่ยังมีปัญหาไม่สามารถจัดตั้งได้สำเร็จ และแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่หากปรับตัวสูงขึ้นไปอีกก็อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อได้เช่นกัน
 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว