Flash Update


Flash Update 7 ตุลาคม 2564

07/10/2564

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับฐานชั่วคราว แต่พื้นฐานยังดีเหมือนเดิม

 

สรุปประเด็นสำคัญ

  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุจากปัจจัยภายนอกและความกังวลต่อนโยบายของนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ ทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจน
  • มีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สถานการณ์ Covid-19 ดีขึ้นและกำลังเปิดเมือง อีกทั้งมีการปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรของตลาดหุ้นญี่ปุ่น 
  • กองทุนที่ลงทุนในญี่ปุ่น: KF-HJAPAND, KF-JPSCAP และ KF-HJPINDX

สถานการณ์ตลาดหุ้นญี่ปุ่น 
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลงในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา สาเหตุหลักเกิดจาก
  • ปรับตัวลงตามอารมณ์ตลาดหุ้นทั่วโลก (Global sentiment) เนื่องจากความกังวลจากปัจจัยภายนอก ทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (US Bond Yield) ความกังวลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีน ประเด็นการทำลดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE Tapering) รวมถึงความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ
  • มีการขายทำกำไรหลังตลาดรับรู้ข่าว (Sell on Fact) ว่านายคิชิดะได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค เสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party หรือ LDP ) โดยนักลงทุนบางส่วนผิดหวัง เนื่องจากนายคิชิดะไม่ใช่ตัวเต็งตามที่ตลาดคาด
  • ความกังวลว่านายคิชิดะ อาจมีการปรับขึ้นภาษีกำไรจากการลงทุน
นายคิชิดะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรค LDP คนใหม่แทนนายซูงะ และเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น โดยการเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ในช่วงที่ผ่านมานายคิชิดะ ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของนโยบายต่างๆ แต่มีการพูดถึงบางประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน เช่น การสนับสนุนการขึ้นค่าจ้าง (ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัท) การปรับขึ้นภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital gain tax) การสนับสนุนการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งความกังวลดังกล่าวเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนใดๆนี้

     มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

 

ผู้จัดการกองทุนยังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น เนื่องจาก

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่กำลังจะมา

  • นายคิชิดะจะมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่คาดว่าวงเงินสูงถึง 30 ล้านล้านเยน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัว และการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
  • นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายคิชิดะจะมีการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ “Go to Campaign” (ชิมช๊อปใช้ฉบับญี่ปุ่น) นโยบายสนับสนุน SME รวมถึงนโยบายระยะยาวที่เกี่ยวกับการสนับสนุน Digital transformation และพลังงานสะอาด
  • นอกจากนี้ นายคิชิดะยังมีนโยบายที่จะคงอัตราภาษีการบริโภค (Consumption tax rate) ซึ่งถือเป็นประเด็นเชิงบวกต่อการบริโภคภายในประเทศ
  • ด้านนโยบายการเงินของญี่ปุ่นยังคงใช้มาตรการผ่อนคลาย เนื่องจากนายคิชิดะสนับสนุนเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% (เงินเฟ้อญี่ปุ่นยังห่างไกลเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น BOJ ที่ 2%)

2. สถานการณ์ Covid-19 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • ยอดผู้ป่วยรายใหม่ในญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 20,000 คนต่อวันมาอยู่ในระดับประมาณ 600 คนต่อวัน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตก็ปรับลดลงต่อเนื่องเช่นกัน
  • การฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แซงหน้าสหรัฐฯ และปัจจุบันประชาชนญี่ปุ่นได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วที่ 72% (US อยู่ที่ 65%) ขณะที่สัดส่วนประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วสูงถึง 62% (US อยู่ที่ 56%)

3. ญี่ปุ่นเปิดเมืองแล้ว เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

  • ญี่ปุ่นประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และกลับมาเปิดเมืองตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนการบริโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent-up demand) หลังจากถูกอั้นมานานตั้งแต่ช่วง Lockdown

4. GDP ญี่ปุ่นจะโตแบบร้อนแรงในไตรมาส 4

  • Goldman Sachs คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของญี่ปุ่นจะเติบโต 8.4% ต่อปี ในไตรมาส 4 ปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

5. แนวโน้มกำไรของบริษัทญี่ปุ่นโตแกร่ง (Strong earnings momentum)

  • กำไร (Earnings) ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นถูกปรับเพิ่มคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ดัชนี TOPIX มีการปรับกำไรคาดการณ์เพิ่มขึ้นในปีนี้และปีหน้า สวนทางกับตลาดหุ้นโลกที่ถูกปรับลดคาดการณ์กำไรลง

6. การประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) ยังไม่แพง

  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปัจจุบันมีค่า P/E ที่ 14.7 เท่า (ณ วันที่ 1 ต.ค. 64) ซึ่งมีค่าต่ำกว่าตลาดหุ้นโลก

7. ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังสามารถปรับขึ้นได้อีก (มี Upside) เมื่อเทียบกับพื้นฐาน

  • Goldman Sachs ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยปรับเพิ่มเป้าหมาย 12 เดือนของ ดัชนี Topix มาที่ 2,300 หลังจากการปรับเพิ่มคาดการณ์กำไร (Earnings) ของบริษัทญี่ปุ่น โดยคิดเป็น Upside ประมาณ 18% จากปัจจุบัน

กองทุนที่ลงทุนในญี่ปุ่น: KF-HJAPAND เน้นการลงทุนเชิงรุก ไม่ยึดติดกับดัชนีชี้วัด ลงทุนในหลักทรัพย์ที่ผู้จัดการกองทุนเชื่อมั่นสูง เลือกธีมการลงทุนที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว และเฟ้นหาหลักทรัพย์รายตัวที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง, KF-JPSCAP เน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กของญี่ปุ่นซึ่งตลาดมองข้าม พยายามหาธีมการลงทุนที่มีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาว บริหารโดยทีมผู้จัดการกองทุนชาวญี่ปุ่นที่ใกล้ชิดกับตลาด และ KF-HJPINDX เน้นลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี Nikkei 225 เพื่อสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี Nikkei 225

 


นโยบายการลงทุนและคำเตือน

  • KF-HJAPAND ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ JPMorgan Japan (Yen) Fund, Class (acc) - JPY (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ≥ 80% ของ NAV ระดับความเสี่ยง 6 - เสี่ยงสูง | ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
  • KF-JPSCAP และ KF-JPSCAPD ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ MUFG Japan Equity Small Cap Fund (Class I) (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ≥ 80% ของ NAV ระดับความเสี่ยง 6 - เสี่ยงสูง | ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ (โดยปกติกองทุนจะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย ≥ 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ)
  • KF-HJPINDX ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ NEXT FUNDS Nikkei 225 Exchange Traded Fund (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ≥ 80% ของ NAV ระดับความเสี่ยง 6 - เสี่ยงสูง | ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน  
  • เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และ ความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ข้อมูลกองทุน:    KF-HJAPAND | KF-JPSCAP | KF-HJPINDX 

หากท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอดูหนังสือชี้ชวน โปรดติดต่อ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรีจำกัด โทร 0 2657 5757 หรืออีเมล krungsriasset.clientservice@krungsri.com
เอกสารประกอบเปิดด้วยโปรแกรม Acrobat Reader หากท่านไม่มีโปรแกรมดังกล่าว คลิกเพื่อ ดาวน์โหลด โปรแกรม (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ย้อนกลับ

ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน