สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
28/02/2567

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดบวกลบสลับกันไป ขณะที่นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อและข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ของสหรัฐซึ่งอาจบ่งชี้กำหนดเวลาที่เป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
  • ตลาดมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐซึ่งอาจบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ย ขณะที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4/2566 ออกมาแล้ว และจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ม.ค. ในวันพฤหัสบดีนี้ (29 ก.พ.) โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
  • นายเจฟฟรีย์ ชมิด ประธานเฟดสาขาแคนซัสซิตีแสดงความเห็นว่า เขายังคงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ระดับสูงและไม่เร่งรีบที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และนางมิเชล โบว์แมน ผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า เธอไม่รีบที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
  • FedWatch tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า มีโอกาส 59.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมเดือน มิ.ย. ปีนี้
  • ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจที่เปิดเผยในวันอังคาร (27 ก.พ.) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือน ก.พ. หลังจากดีดตัวขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงาน และปัจจัยทางการเมืองในสหรัฐ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 106.7 ในเดือน ก.พ. จากระดับ 110.9 ในเดือน ม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 115.0
  • คำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐลดลง 6.1% จากเดือนก่อนหน้าในเดือน ม.ค. เทียบกับที่ตลาดคาดว่าอาจลดลง 4.5% ในขณะที่คำสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้าตามคาด  ทางด้านยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อนหน้า สู่ 0.661 ล้านยูนิตต่อปีในเดือน ม.ค.
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก โดยตลาดหุ้นเยอรมนีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับกำหนดเวลาที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
  • นายเอริก เธดีน ผู้ว่าการธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) และกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เมื่อพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง
  • อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นที่ไม่รวมหมวดอาหารสดแต่รวมหมวดพลังงานเพิ่มขึ้น 2.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือน ธ.ค. และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 3.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากเพิ่มขึ้น 3.7% ในเดือนก่อนหน้า 
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวก ขณะที่นักลงทุนรอจีนเปิดเผยข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน ก.พ.ของจีนที่จะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ (1 มี.ค.)
  • ตลาดหุ้นไทยเปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 3 นาทีแรก ก่อนที่จะร่วงลงแกว่งตัวในกรอบแคบๆ แดนลบตลอดช่วงที่เหลือของวัน เนื่องจากไม่มีปัจจัยใหม่มากระตุ้นตลาด ในขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคมีทั้งปิดบวกและลบ นักลงทุนรอดูตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (core PCE) ของสหรัฐที่จะประกาศในวันศุกร์ (1 มี.ค.) ซึ่งจะบ่งชี้ถึงแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางดอกเบี้ยของเฟด 

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

จากการที่บรรดาคณะกรรมการนโยบายด้านการเงินของเฟดออกมาแสดงความคิดในเชิงยังไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจยังออกมาแข็งแกร่งบวกกับเงินเฟ้อยังคงไม่ถึงระดับเป้าหมาย ทำให้มีความเป็นไปได้เฟดจะยังไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐมี Upside จำกัด  

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 38,972.41 จุด ลดลง 96.82 จุด หรือ -0.25%, ดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 5,078.18 จุด เพิ่มขึ้น 8.65 จุด หรือ +0.17% และดัชนี NASDAQ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 16,035.30 จุด เพิ่มขึ้น 59.05 จุด หรือ +0.37%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 496.33 จุด เพิ่มขึ้น 0.90 จุด หรือ +0.18%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,015.48 จุด เพิ่มขึ้น 38.46 จุด หรือ +1.29%
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 5.20 ดอลลาร์ หรือ 0.26% ปิดที่ 2,044.10 ดอลลาร์/ออนซ์
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 1.29 ดอลลาร์ หรือ 1.66% ปิดที่ 78.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,393.70 ลบ 4.44 จุด (-0.32%)  Trading Volume: 55,731.56 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างมาก โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพลังงาน (-1.24%) ตามด้วยกลุ่มธนาคาร (-0.38%) และกลุ่มพาณิชย์ (+0.45%) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,299.73 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับลดลง 1 bp แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับลดลง 1 bp
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับลดลง 1 bp
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับลดลง 1 bp
      • IRS SWAP ปิดปรับลดลง 1 bp    
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 21,798.63 ล้านบาท  นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,365.78 ล้านบาท  
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน