สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
12/03/2567

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดผสมผสาน ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวกเล็กน้อย ส่วนดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดลดลง ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้หรือไม่
  • หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มบริษัทผลิตชิปปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยหุ้นซูเปอร์ ไมโคร คอมพิวเตอร์ ดิ่งลง 5% หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ ร่วงลง 4.4% หุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ (AMD) ร่วงลง 4.3% และหุ้นบรอดคอม ปรับตัวลง 1.2% ส่วนหุ้นอินวิเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วงลง 2% โดยปรับตัวลงต่อเนื่องจากเมื่อวันศุกร์ (8 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจว่าหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI ซึ่งรวมถึงอินวิเดียนั้น จะมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ หลังจากที่ราคาหุ้นทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา
  • ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 3.1% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือน ม.ค. เช่นกัน และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 3.7% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือน ม.ค.
  • เฟดสาขาแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 1/2567 และจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งต่อไปในวันที่ 14 มี.ค.
  • FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 - 5.50% ในการประชุมวันที่ 19 - 20 มี.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 - 5.50% ในการประชุมวันที่ 30 เม.ย. - 1 พ.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00 - 5.25% ในการประชุมวันที่ 11 - 12 มิ.ย.
  • เฟดจะเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 19 - 20 มี.ค. ซึ่งกฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
  • นักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยดัชนี CPI ประจำเดือน ก.พ. ของสหรัฐในวันนี้ (12 มี.ค.) และดัชนี PPI ประจำเดือน ก.พ. ในวันพฤหัสบดี (14 มี.ค.) เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก่อนที่การประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดจะมีขึ้นในวันที่ 19 - 20 มี.ค.
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ โดยถูกกดดันจากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่นักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนสหรัฐเปิดเผยรายงานเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ซึ่งจะบ่งชี้แนวโน้มเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
  • หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีลดลงมากที่สุด โดยร่วงลง 2% หลังหุ้นบีอี เซมิคอนดักเตอร์ดิ่งลง 8.9% และหุ้นเอเอสเอ็มแอล ร่วงลง 4.2%
  • นักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ของสหรัฐในวันนี้ (12 มี.ค.) ซึ่งจะบ่งชี้กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่เมื่อวันศุกร์ (8 มี.ค.) ที่ผ่านมา สหรัฐเปิดเผยรายงานการจ้างงานขยายตัวในเดือนก.พ.
  • นักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. ของยูโรโซนในสัปดาห์นี้ ขณะที่คาดว่าทั้งเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินตั้งแต่เดือน มิ.ย. และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงจะสนับสนุนการคาดการณ์ดังกล่าว
  • ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดลบ ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงภายในวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 โดยตลาดถูกกดดันจากการดิ่งลงของหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐและการแข็งค่าของเงินเยนได้กระตุ้นให้เกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการส่งออก
  • มาซาฮิโระ ยามากูจิ หัวหน้าฝ่ายวิจัยการลงทุนของ SMBC Trust Bank กล่าวว่า แรงขายหุ้นเทคโนโลยีไม่ได้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่ลดลง แต่เป็นเพียงการปรับฐานหลังจากที่นิกเกอิพุ่งขึ้นเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
  • รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4/2566 โดยระบุว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 4/66 ขยายตัว 0.1% จากไตรมาสก่อนหน้า และโต 0.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่รายงานไปก่อนหน้านี้ว่าหดตัว 0.1% จากไตรมาสก่อนหน้า และหดตัว 0.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายด้านทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดถือเป็นการยืนยันว่า ญี่ปุ่นสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวก โดยได้แรงหนุนจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเงินฝืดได้
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของจีนเพิ่มขึ้น 0.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ก.พ. โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ส.ค. และเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 11 เดือน เนื่องจากการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
  • ตลาดหุ้นไทยปิดลบ โดยดัชนีแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบาง สอดคล้องกับตลาดภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนยังคงซื้อขายอย่างระมัดระวังเพื่อรอติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.พ. ของสหรัฐในวันนี้ (12 มี.ค.) เพื่อประเมินทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด 

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

ตลาดรอติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งจะประกาศในวันนี้ (12 มี.ค.) เพื่อประเมินแนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดหลังจากนี้ ในระยะสั้นคาดว่าตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนจากแรงเทขายเพื่อทำกำไร หลังตลาดปรับตัวขึ้นมามากและราคาเข้าสู่โซนแพง ทั้งนี้แนะนำหาโอกาสลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive Quality ที่ราคายังอยู่ในโซนถูก หรือลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์หากเฟดปรับลดดอกเบี้ยลง 

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,769.66 จุด เพิ่มขึ้น 46.97 จุด หรือ +0.12%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,117.94 จุด ลดลง 5.75 จุด หรือ -0.11% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,019.27 จุด ลดลง 65.84 จุด หรือ -0.41%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 501.49 จุด ลดลง 1.77 จุด หรือ -0.35%
    • ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 38,820.49 จุด ร่วงลง 868.45 จุด หรือ -2.19%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,068.46 จุด เพิ่มขึ้น 22.44 จุด หรือ +0.74%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน เม.ย. ลดลง 8 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 77.93 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 3.10 ดอลลาร์ หรือ 0.14% ปิดที่ 2,188.60 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,380.23 ลบ 6.19 จุด (-0.45%) Trading Volume: 33,551.28 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพลังงาน (-0.46%) และกลุ่มธนาคาร (-0.84%)  นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,342.48 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับลดลง 1-4 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับลดลง 1-2 bps
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับลดลง 1-3 bps
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับลดลง 1-4 bps
      • IRS SWAP ปิดปรับลดลง 1-3 bps  
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 12,198.16 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 109.06 ล้านบาท     
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน