จับสัญญาณเศรษฐกิจโลก


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด


จากปัญหาในภาคการเงินของสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจเป็นสัญญาณถึงวิกฤตการเงินรอบใหม่และอาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกต่างออกมาเตือนถึงความเสี่ยงและสัญญาณการชะลอตัวของแศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้ลงสู่ 0.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 0.5% และปรับตัวเลขคาดการณ์ของปีหน้าลงสู่ 1.2% จาก 1.6%  ในขณะที่ ธปท. ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงสู่ 3.6% จาก 3.7% และปี 2567 ลงสู่ 3.8% จาก 3.9%
สำหรับสาเหตุที่เฟดปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ เป็นเพราะเฟดคาดว่าเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง รวมถึงคาดว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 3.7% สู่ 4.5% ในสิ้นปีนี้ ซึ่งก็หมายความว่า เฟดคาดว่าผู้บริโภคจะมีรายได้จากการทำงานน้อยลงและจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในขณะที่ผู้ประกอบการอาจมีรายได้ลดลงตามการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ในส่วนของ ธปท. สาเหตุหลักที่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีมาจากการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกสินค้าลงสู่หดตัว 0.7% จากเดิมคาดโต 1.0% เนื่องจาก ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าจะชะลอลง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าลดลง ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการค้าของหลายประเทศที่มีสัญญาณชะลอลง และส่งผลต่อเนื่องถึงการปรับลดคาดการณ์การลงทุนของภาคเอกชนของไทยลงสู่ขยายตัว 2.1% จากเดิมคาดโต 3.4%  นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ปรับลดคาดการณ์การอุปโภคภาครัฐเป็นหดตัว 2.2% จากคาดการณ์เดิมที่หดตัว 1.4%

อย่างไรก็ดี ปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐฯและยุโรปได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อสกัดไม่ให้ปัญหาลุกลามและเกิดปัญหาวิกฤตความเชื่อมั่นในภาคธนาคาร ในขณะที่ทาง ธปท. ได้ให้ข้อมูลที่บ่งชี้ว่าภาคธนาคารของไทยมีความแข็งแกร่งมาก ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกคลายความกังวลต่อวิกฤตดังกล่าว

ถึงแม้ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีของไทยและสหรัฐถูกปรับลดลง แต่สัญญาณบวกทางเศรษฐกิจเริ่มมีมากขึ้น โดยในฝั่งของสหรัฐฯ ตัวเลขภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มพลิกกลับมาขยายตัว สะท้อนว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการใช้จ่ายในระยะยาว และจะส่งผลต่อเนื่องถึงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน เช่น เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในบ้าน  ในขณะที่รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครยังคงอยู่ในระดับสูง ภาคธุรกิจสหรัฐเริ่มเพิ่มการลงทุนมากขึ้น บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานของสหรัฐในสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ต่ำกว่าที่เฟดคาด ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐต่อไป

สำหรับเศรษฐกิจไทยยังคงมีทิศทางการเติบโตที่ดี และมีโอกาสที่จะเติบโตสูงกว่าที่หลายๆฝ่ายคาดไว้ โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวดีขึ้นในทุกหมวด ทั้งคำสั่งซื้อในประเทศและจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศและยอดขายในต่างประเทศ รวมถึงคาดการณ์ในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้นทุกหมวดเช่นกัน จึงเป็นสัญญาณว่าการส่งออกน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยยอดส่งออกสินค้าในครึ่งแรกของปีนี้อาจติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเนื่องจากผลของฐานสูง  นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคในต่างประเทศยังคงมีความสามารถในการใช้จ่ายสูง น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทย 
ทางด้านการบริโภคภาคเอกชน ธปท. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์สู่โต 4.0% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.4% สะท้อนว่าผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายสูงกว่าที่คาด ท่ามกลางเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีต และต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาด สะท้อนจากยอดจองรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ที่พุ่งขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่น คอนเสิร์ต งานวัด การแข่งกีฬา งานสัมนา นิทรรศการ งานประเพณี ฯลฯ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่อาจเติบดีกว่าที่คาด เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นและอุปสงค์จากต่างประเทศที่อาจไม่ได้ชะลอตัวลงมากอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
อีกทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเติบโตดีตามการเปิดตัวของโครงการใหม่ และได้แรงหนุนจากอุปสงค์ของต่างชาติ และการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ ธปท. คาดว่าจะอยู่ที่ 28 ล้านคน ปรับเพิ่มจากคาดการณ์เดิมที่ 22 ล้านคน  ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสที่จะสูงกว่าที่คาดเช่นกัน เนื่องจากยูทูปเบอร์ด้านการท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างหลั่งไหลเดินทางเข้ามาในไทย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่แตกต่างไปจากเดิม และเดินทางกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค เช่น ล่องห่วงยางที่ปาย ร่วมปลูกป่า ใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน ทดลองกินสตรีทฟูด เป็นต้น ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจในแง่ความหลากหลายของการท่องเที่ยวในไทย และเพิ่มระยะเวลาในการอยู่ในประเทศไทย รวมถึงเพิ่มการใช้จ่ายและกระจายรายได้ไปในหลายภาคส่วน นอกจากนี้ หากมีการเพิ่มเที่ยวบินจากหลายประเทศ ก็จะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากขึ้น 
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้หลายฝ่ายจะส่งสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงด้านลบอย่างต่อเนื่อง แต่หากมองในเชิงลึกก็จะพบสัญญาณบวกอยู่มากเช่นกัน ดังนั้น นักลงทุนจึงควรติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดและลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
 
กองทุนหุ้นไทยแนะนำ คลิก: KFDYNAMIC | KFDNM-D | KFDNMRMF
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 







ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว