เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 1/66


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา นอกจากจะมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ 1.75% ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะรองรับการขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างต่อเนื่อง  โดย ธปท. ได้เผยตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้และปีหน้าลงเล็กน้อยสู่ 3.6% และ 3.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.7% และ 3.9% โดยมีสาเหตุหลักจากการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของการส่งออก เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะชะลอลงจากผลของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรป

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ภาพรวมอัตราการเติบโตของจีดีพีถูกปรับลดลง แต่เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดแล้ว เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดย ธปท. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนขึ้นจาก 3.4% สู่ 4.0% ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ของสภาพัฒน์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนอาจโตราว 3.2% เนื่องจาก ธปท. ประเมินว่าการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวจะส่งผลให้มีการกระจายรายได้และช่วยหนุนการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค นอกจากนี้ การที่ ธปท. ประเมินว่าการลงทุนภาครัฐจะเพิ่มขึ้น 3.7% จากปี 2565 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากคาดการณ์เดิมที่ 1.8% เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้มีเงินกระจายสู่ระบบมากขึ้น
สำหรับในส่วนของตัวเลขคาดการณ์ที่ถูกปรับลง นอกจากตัวเลขการส่งออกที่คาดว่าจะหดตัว 0.7% แล้ว ธปท. ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนลงสู่ 2.1% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.4% ซึ่งก็สอดคล้องกับการปรับลดคาดการณ์การส่งออกจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ข้อมูลเศรษฐกิจที่ถูกรายงานออกมาบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง และอาจเติบโตดีกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ โดยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ของ ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในทุกองค์ประกอบ และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือนมีนาคม โดยการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อนหน้า ตามความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ดีขึ้น ในขณะที่รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 13.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากแรงหนุนทั้งด้านราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้นและผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณว่า การบริโภคภาคเอกชนจะยังคงได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์โดยรวมจากงานมอเตอร์โชว์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% บ่งชี้ถึงความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าที่คาด

สำหรับด้านการส่งออก ซึ่ง ธปท. และ สภาพัฒน์คาดว่าจะหดตัวในปีนี้ โดย ธปท. ระบุว่าการส่งออกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี รายงานการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 4.7% แต่การส่งออกที่ไม่รวมสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ลดลงเพียง 0.05% สะท้อนว่า การส่งออกของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกหมวด ซึ่งได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวมจากทั้งในและต่างประเทศ และยอดขายโดยรวมจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงคาดการณ์ในอนาคตก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน
ในด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 2.0% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยเป็นการเติบในทุกหมวด ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาด จากการที่บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งประกาศแผนการขยายธุรกิจ กอปรกับภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มทยอยเปิดโครงการใหม่ๆเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และหากเศรษฐกิจโลกไม่ได้ชะลอลงมากอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ภาคเอกชนก็จะมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนมากขึ้น  ในขณะที่ภาคธนาคารเริ่มระดมเงินฝากเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ
ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ธปท. ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 28 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 22 ล้านคน ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดมากหากสามารถแก้ไขปัญหาคอขวดในภาคขนส่งได้เร็ว เนื่องจากบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้ว โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยก็เดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น  สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศก็มีความคึกคักมากขึ้นเช่นกัน และมีการจัดกิจกรรมต่างๆที่จัดกันเป็นปกติมากขึ้น เช่น คอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า งานวิ่ง งานวัด งานรื่นเริง ฯลฯ แต่การที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ต่ำกว่าก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 เป็นเพราะจำนวนเที่ยวบินและจำนวนบุคคลากรด้านการท่องเที่ยวที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ

ข้อมูลต่างๆเหล่านี้สนับสนุนว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตดีกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจก็มีเช่นกัน เช่น การประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันของโอเปกพลัสอาจส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวขึ้นและฉุดความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปัญหาในภาคการเงินของสหรัฐและยุโรปซึ่งอาจสร้างความกังวลให้แก่ตลาด ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาความขัดแย้งทางการค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
 
กองทุนหุ้นไทยแนะนำ คลิก: KFDYNAMIC | KFDNM-D | KFDNMRMF
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 







ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว