แนวโน้มดอกเบี้ยไทยจะไปทางไหนต่อ?


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด


ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท. เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ 2.25% ตามที่ตลาดคาด โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงและทรงตัวในกรอบเป้าหมายของ ธปท.

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังผลจากฐานสูงในปีที่แล้วหมดไป รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพหมดไปด้วยเช่นกัน ในขณะที่แรงหนุนเงินเฟ้ออาจมาจาก 1) การเติบโตของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์เพิ่มขึ้น 2) ต้นทุนราคาอาหารที่อาจเพิ่มขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภค 3) มาตรการของรัฐบาลชุดใหม่ เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งต้นทุนของผู้ประกอบการ และอุปสงค์ในตลาด

การประกาศขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ครั้งล่าสุดนี้ จึงเป็นไปตามสมมุติฐานว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจจะปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) กล่าวคือ หากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงในอนาคต กนง. อาจประกาศลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นการปรับดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ คณะกรรมการยังไม่ปิดโอกาสที่จะประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของแนวโน้มการเติบโต และความเสี่ยง

หลังการประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนี้ นักวิเคราะห์และนักลงทุนมีความเห็นที่แตกต่างกันถึงทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต โดยนักวิเคราะห์ราวครึ่งหนึ่งมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ในขณะที่นักวิเคราะห์อีกราวครึ่งหนึ่งคาดว่าอาจมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง

กลุ่มนักวิเคราะห์ที่ประเมินว่า กนง. ไม่ควรที่จะประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันเป็นการคุมเข้มที่มากเกินไป (overtightening) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 0.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.23% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายด้านต่ำของ ธปท. ที่ 1% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.86% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ก.ค. ชะลอลงจากเพิ่มขึ้น 1.32% ในเดือน มิ.ย. และคาดว่าการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจของ ธปท. ในครั้งถัดไปจะมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปลงต่ำกว่า 2% ในขณะที่ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญน่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อเพียงชั่วคราว จึงไม่น่าเป็นปัจจัยที่นำมาพิจารณาสำหรับการดูแลเสถียรภาพด้านราคาในระยะยาว นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยยังส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยในด้านของหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูง ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ก็อาจไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก เนื่องจากสินค้าหลายประเภทถูกควบคุมราคา และรัฐบาลชุดใหม่อาจมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาสินค้า

สำหรับกลุ่มนักวิเคราะห์ที่ประเมินว่า กนง. อาจประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง โดยบางส่วนมองว่าจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 27 ก.ย. เป็นครั้งสุดท้าย ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่า กนง. อาจประกาศคงดอกเบี้ยในการประชุมในเดือน ก.ย. และอาจประกาศขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 29 พ.ย. นักวิเคราะห์กลุ่มนี้มองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยยังคงอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 อยู่มาก จึงมีโอกาสที่ภาคการท่องเที่ยวจะขยายตัวได้อีกมาก ทางด้านการบริโภคภาคเอกชนยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยหลายหน่วยงานได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้ หลังภาคการท่องเที่ยวเติบโตดี และผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังการเปิดประเทศ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการบางส่วนปรับขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากมองว่าผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2) เศรษฐกิจโลกไม่ได้ชะลอตัวลงมากอย่างที่หลายฝ่ายเคยกังวล อุปสงค์ในตลาดโลกจึงมีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าที่คาด 3) การลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัสท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันกลับมาพุ่งสูงขึ้น 4) นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะมาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจส่งผลให้มีการส่งผ่านต้นทุนสู่ผู้บริโภค ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม ท่ามกลางความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้น

จะเห็นได้ว่า ทั้งฝ่ายที่ประเมินว่า กนง. อาจยุติการขึ้นดอกเบี้ยและฝ่ายที่ประเมินว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ต่างมีเหตุผลที่เหมาะสม ดังนั้น ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. จึงเป็นไปตามที่ กนง. แถลงข่าว กล่าวคือ ขึ้นอยู่กับ “แนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ”

ในด้านการลงทุน ตลาดตราสารหนี้ได้ตอบรับการประกาศขึ้นดอกเบี้ยมากพอสมควรแล้ว ดังนั้น การที่ กนง. จะประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรือไม่จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้มากนัก เนื่องจากตลาดประเมินว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ในส่วนของตลาดหุ้น มีทั้งกลุ่มที่ได้ประโยชน์และได้รับผลกระทบด้านลบจากการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในขณะนี้ ได้แก่ การจัดตั้งรัฐบาล และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ ในไตรมาส 2/66

กองทุนกรุงศรีแนะนำ ได้แก่ KFAFIX-A | KFAFIXRMF
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 







ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา



ข้อมูลกองทุน KFAFIX-A คลิก

ข้อมูลกองทุน KFAFIXRMF คลิก

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว