สัญญาณของโอกาสลงทุนที่ดี


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด


หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด เพื่อรอดูผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยและรอดูข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงินต่อไป โดยคณะกรรมการคาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อีก 2 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจยังมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการขึ้นดอกเบี้ยต่อไป 

คณะกรรมการเฟดหลายท่านได้ออกมาตอกย้ำถึงการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องหลังจากการเปิดเผยรายงานการประชุมดังกล่าว การส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดส่งผลให้ตลาดกังวลมากขึ้นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง เพราะต้นทุนการกู้ยืมจะสูงขึ้น ผู้บริโภคจะมีความสามารถในการใช้จ่ายลดลง บริษัทต่างๆอาจไม่มั่นใจที่จะผลิตสินค้าหรือบริการออกมามากเนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำยอดขายได้ดี บางบริษัทอาจจำเป็นที่จะต้องลดคนงานเพื่อชดเชยต้นทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าหน้าที่เฟดให้ความเห็นตรงกันว่า เฟดน่าจะใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะใกล้อยู่ที่จุดสูงสุดแล้ว อีกทั้งการคาดการณ์ของเฟดใน dot plot บ่งชี้ว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โดยคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ย 4 ครั้งในปี 2567 และลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 5 ครั้งในปี 2568 หลังจากนั้นอาจมีการลดดอกเบี้ยอีก 3 – 4 ครั้ง เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ระดับคาดหมายระยะยาวที่ 2.5%

สัญญาณการลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดการลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้น  เพราะการลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้บริษัทต่างๆกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าจะได้รับการสนับสนุนจากต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัท ในขณะที่ผู้บริโภคจะมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้นเนื่องจากภาระดอกเบี้ยลดลง

ในช่วงที่ผ่านมาถึงแม้เฟดมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง เป็นเพราะได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นหลัก เนื่องจากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายน้อยลง กอปรกับปัญหาการขาดแคลนในห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าไปด้วย นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังได้รับเงินเพิ่มเติมจากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ส่งผลให้อัตราการออมในช่วงดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ ดังนั้น หลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง ผู้บริโภคจึงเริ่มกลับมาใช้จ่าย มีการจ้างงานมากขึ้นท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานจำนวนมากเลือกงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กอปรกับราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้นจากทั้งเงินออม ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันที่ถูกลง นอกจากนี้ ปัญหาในห่วงโซ่อุปทานที่คลี่คลายลงส่งผลให้มีสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น จึงดึงดูดให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากขึ้น

การที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีหน้า ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง น่าจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกมีทิศทางเป็นขาขึ้นต่อเนื่องได้อย่างน้อยในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาวที่มีการบริหารเชิงรุก (Active Management) ก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีจากการปรับขึ้นของราคาตราสารหนี้

สำหรับความเสี่ยงมีทั้งในด้านบวกและลบ โดยเฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด หรืออาจเริ่มลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาด รวมถึงเฟดอาจส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมหากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะรองรับการขึ้นดอกเบี้ยต่อไป นอกจากนี้ หากเฟดเริ่มลดดอกเบี้ยแล้วเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตร้อนแรงเกินไป เฟดก็อาจชะลอการลดดอกเบี้ยเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สำหรับความเสี่ยงด้านบวก ได้แก่ เฟดอาจลดดอกเบี้ยเร็วและมากกว่าที่คาด เนื่องจากเงินเฟ้อชะลอตัวลงมากกว่าที่เฟดประเมินไว้ เฟดจึงอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงต่อเนื่องยาวนาน

สำหรับผลกระทบที่จะมีต่อไทย มีแนวโน้มที่การส่งออกของไทยจะปรับตัวดีขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าและค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยมีราคาแพงขึ้นเมื่อเทียบเป็นดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของตลาดหุ้นไทย อาจปรับตัวดีขึ้นตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่อาจไม่ได้แรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้ามากนัก เนื่องจากเงินส่วนใหญ่น่าจะไหลกลับสู่ตลาดหุ้นสหรัฐ รวมถึงตลาดหุ้นอื่นๆในเอเชียที่มีความน่าสนใจมากกว่า เช่น ตลาดหุ้นจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ฯลฯ ในส่วนของตลาดตราสารหนี้น่าจะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก กล่าวคือ กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาวที่มีการบริหารเชิงรุกมีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบที่ดี

ทั้งนี้ นักลงทุนอาจเริ่มทยอยลงทุนเพื่อโอกาสที่ดีในการรับผลตอบแทนในระยะยาว หรืออาจรอความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของเฟดก่อนที่จะเริ่มลงทุน โดยควรศึกษาข้อมูลและพิจารณาลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงของท่าน

กองทุนกรุงศรีแนะนำ ได้แก่ KFAFIX-A | KFGBRAND-A | KFGG-A | KFHTECH-A | KFUS-A
 
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 







ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา



ข้อมูลกองทุน KFAFIX-A คลิก

ข้อมูลกองทุน KFGBRAND-A คลิก

ข้อมูลกองทุน KFGG-A คลิก

ข้อมูลกองทุน KFHTECH-A คลิก

ข้อมูลกองทุน KFUS-A คลิก

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว