สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
11/04/2567

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดปรับตัวลดลง หลังเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4% และสูงกว่าเดือน ก.พ. ที่ปรับตัวขึ้น 3.2%
  • ดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือน ก.พ.
  • ตัวเลข CPI ที่สูงเกินคาดส่งผลให้เกิดแรงเทขายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจสร้างบ้านซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.5%
  • รายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 19-20 มี.ค. ซึ่งระบุว่า กรรมการเฟดมีความกังวลว่าเงินเฟ้ออาจจะไม่ชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ในระยะเวลาอันใกล้ และแสดงความเห็นว่าเฟดอาจจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 16.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน มิ.ย. ซึ่งลดลงอย่างมากจากระดับ 56% ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI และให้น้ำหนัก 46.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน ก.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 33.7% ก่อนหน้านี้
  • ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้น 5.47% แตะระดับ 15.80 จุด หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 16.43 จุด
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก โดยฟื้นตัวขึ้นหลังถูกกดดันจากแรงขายท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ระดับสูงของสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนหันไปให้ความสนใจกับการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดีนี้ (11 เม.ย.)
  • ตลาดให้ความสนใจในขณะนี้ไปที่การประชุม ECB ซึ่งคาดว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม และคาดว่าคณะกรรมการจะหารือกันเกี่ยวกับความเหมาะสมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดลบ โดยตลาดถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และจากการที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของจีนลงสู่ "เชิงลบ"
  • สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์ เรตติงส์ ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของจีนลงสู่ “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” และคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ A+ โดยระบุว่ามีโอกาสที่รัฐบาลจีนจะเผชิญปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นจากความพยายามในการกอบกู้เศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์
  • ตลาดหุ้นไทยวานนี้ซื้อขายในแดนบวกตลอดทั้งวัน ปิดปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ หลัง กนง. มีมติคงดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ในขณะที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคปิดปรับตัวลดลง และหลายตลาดปิดทำการในวันนี้
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท. มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% โดยระบุว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันยังคงสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ในขณะที่กรรมการ 2 ท่านลงมติให้ลดดอกเบี้ย 0.25% เพื่อให้สะท้อนถึงศักยภาพของการเติบโตของเศรษฐกิจที่ลดลง  ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.6% ในปีนี้ และโต 3.0% ในปีหน้า และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% ในปี 2566 และ 1.3% ในปี 2567
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงสู่ 63.0 ในเดือน มี.ค. จาก 63.8 ในเดือน ก.พ. หลังจากปรับตัวขึ้น 7 เดือน ติดต่อกัน โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

ตลาดหุ้นสหรัฐตอบรับในเชิงลบทันที หลังจากตัวเลข CPI ล่าสุดบ่งชี้ว่าเงินเฟ้ออาจจะลดลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% มีความเป็นไปได้ยาก และน่าจะทำให้เฟดต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้วยปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้ตลาดหุ้นเกิดแรงขายมากขึ้นในช่วงนี้ หลังจากที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,461.51 จุด ลดลง 422.16 จุด หรือ -1.09%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,160.64 จุด ลดลง 49.27 จุด หรือ -0.95% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,170.36 จุด ลดลง 136.28 จุด หรือ -0.84%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 506.59 จุด เพิ่มขึ้น 0.77 จุด หรือ +0.15%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ระดับ 3,027.34 จุด ลดลง 21.20 จุด หรือ -0.70%
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย. ลดลง 14 ดอลลาร์ หรือ 0.59% ปิดที่ 2,348.40 ดอลลาร์/ออนซ์
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 98 เซนต์ หรือ 1.15% ปิดที่ 86.21 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,408.17 บวก 7.06 จุด (+0.50%) Trading Volume: 44,378.17 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพาณิชย์ (+0.72%) ตามด้วยกลุ่มพลังงาน (+0.16%) และกลุ่มธนาคาร (+0.54%)  นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,696.16 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับขึ้น 2-7 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับขึ้น 3-7 bps
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับขึ้น 3-6 bps
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับขึ้น 2-5 bps
      • IRS SWAP ปิดปรับขึ้น 8-11 bps   
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 42,569.52 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,776.17 ล้านบาท
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน