สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
16/06/2566

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดบวกพุ่ง โดยดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจหลายรายการที่ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุก
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลง หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจหลายรายการบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของเฟดในอนาคต และเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้นแอปเปิ้ลและหุ้นไมโครซอฟท์ที่ต่างก็ปรับเพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่(นิวไฮ)
  • รอสส์ เมย์ฟิลด์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Baird กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเงินเฟ้อที่มีการเปิดเผยในช่วงต้นสัปดาห์ และข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งมีการเปิดเผยหลังการประชุมเฟด นักลงทุนก็กลับมาซื้อหุ้นอย่างคึกคักและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็ปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนไม่เชื่อในตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ที่เฟดเปิดเผยในการประชุมครั้งล่าสุดว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้
  • FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 67% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน ก.ค. และจากนั้นจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในเดือน ธ.ค.ปีนี้
  • ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค.ของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.3% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.1% โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าเป็นวงกว้างซึ่งรวมถึงรถยนต์ ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 262,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 10 มิ.ย. ซึ่งแม้ว่าไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ก็สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 249,000 ราย
  • ดัชนีราคานำเข้าเดือน พ.ค.ร่วงลง 5.9% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับในรอบ 3 ปี โดยข้อมูลดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันอังคารว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้นเพียง 4.0% ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลงมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25% สู่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี โดยปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกันแล้ว ขณะที่เงินเฟ้อของยูโรโซนอยู่ที่ 6.1% สูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของ ECB ถึง 3 เท่า และได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอีกเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ระดับสูง
  • ยูโรโซนรายงานขาดดุลการค้า 1.17 หมื่นล้านยูโรในเดือน เม.ย. ซึ่งผิดไปจากที่ตลาดว่าอาจเกินดุล 2.15 หมื่นล้านยูโร โดยยอดนำเข้าร่วงลง 11.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 ตามการลดลงของการนำเข้าพลังงานและสินค้าในภาคการผลิต ส่วนยอดส่งออกลดลง 3.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 ตามการลดลงของยอดส่งออกพลังงานและสินค้าในภาคการผลิต
  • ยอดส่งออกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน พ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือน เม.ย. และดีกว่าที่ตลาดคาดว่าอาจลดลง 0.8% โดยยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 27 ติดต่อกัน แต่เป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 เนื่องจากยอดส่งออกสู่จีนลดลง ส่วนยอดนำเข้าลดลง 9.9% หลังจากลดลง 2.3% ในเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของการนำเข้าพลังงาน ส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 1.37 ล้านล้านเยน  ทางด้านคำสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐานเพิ่มขึ้น 5.5% จากเดือนก่อนหน้าในเดือน เม.ย. ฟื้นตัวจากลดลง 3.9% ในเดือน มี.ค. โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อนอกภาคการผลิต
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวก หลังจากธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน โดยมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอย่างมากในขณะนี้
  • ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนลง 0.10% สู่ระดับ 2.65% จากระดับ 2.75% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังช่วงโควิด-19 ยังคงอ่อนแอ โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ย MLF
  • ทางการจีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.ปรับตัวขึ้น 3.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 5.6% ในเดือน เม.ย.
  • ยอดค้าปลีกซึ่งเป็นมาตรวัดการอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น 12.7% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือน เม.ย.ที่พุ่งขึ้น 18.4% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 13.6% ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรปรับตัวขึ้น 4% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.4% และชะลอตัวลงจากช่วง 4 เดือนแรกที่มีการขยายตัว 4.7%
  • ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบๆ โดยส่วนใหญ่ซื้อขายในแดนลบ โดยที่หุ้น DELTA (+9.31%) ช่วงพยุงตลาดไม่ให้ปรับตัวลงแรง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยได้รับแรงกดดันจากการที่เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และ ธปท. ส่งสัญญาณทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อ  ในขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคมีทั้งปิดบวกและลบ

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

ตลาดหุ้นจีนมีความน่าสนใจ แนะนำทยอยสะสมในกองทุนหุ้นจีน จากการที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ บ่งบอกถึงความพยายามของทางการจีนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งนโยบายทางการที่ผ่อนคลายเงินดังกล่าว ยังสวนทางกับนานาประเทศ รวมถึงในแง่ระดับราคาของหุ้นจีนถือว่าอยู่ในระดับที่ถูก

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,408.06 จุด เพิ่มขึ้น 428.73 จุด หรือ +1.26%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,425.84 จุด เพิ่มขึ้น 53.25 จุด หรือ +1.22% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,782.82 จุด เพิ่มขึ้น 156.34 จุด หรือ +1.15%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ระดับ 464.33 จุด ลดลง 0.61 จุด หรือ -0.13%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ระดับ 3,252.98 จุด เพิ่มขึ้น 23.99 จุด หรือ +0.74%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 2.35 ดอลลาร์ หรือ 3.44% ปิดที่ 70.62 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 1.80 ดอลลาร์ หรือ 0.09% ปิดที่ 1,970.70 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,557.71 ลบ 3.44 จุด (-0.22%)  Trading Volume: 47,162.20 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ (-4.00%) ตามด้วยกลุ่มพลังงาน (-0.94%) กลุ่มธนาคาร (-0.99%) และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (+8.41%)  นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,612.51 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับขึ้น 1-5 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับขึ้น 1-3 bps
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับขึ้น 3-4 bps
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับขึ้น 1-5 bps
      • IRS SWAP ปิดปรับขึ้น 3-6 bps     
    • นักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 24,118.43 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,797.49 ล้านบาท  
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน