บลจ.กรุงศรี ชี้แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ปี 2562


          ตลาดตราสารหนี้ในปี 2561 ที่กำลังจะผ่านไปมีความผันผวนสูง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มฟื้นกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้ง ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยกังวลเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยเฉพาะหลังจากที่มีกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินหนึ่งท่านลงคะแนนให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมในเดือนมีนาคม ด้วยเหตุผลความกังวลเสถียรภาพในตลาดการเงิน และ จากนั้นมีกรรมการที่เห็นควรขึ้นดอกเบี้ยทยอยเพิ่มมาเป็นสามท่านในเดือนพฤศจิกายน จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวได้รับผลกระทบ

          สำหรับแนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ในปีหน้ามีปัจจัยสำคัญทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ควรติดตาม โดยในภาคต่างประเทศจะมาจากนโยบายการเงินแบบตึงตัวของกลุ่มประเทศขนาดใหญ่และปัญหาสงครามการค้าที่อาจจะยืดเยื้อ จนส่งผลต่อการลงทุนในตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ทั้งนี้ ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าสหรัฐจะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในเดือนธันวาคมปีนี้และขึ้นต่อในปี 2562  เนื่องจากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการเปลี่ยนกรรมการที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนบางส่วนโดยกรรมการกลุ่มใหม่เป็นผู้ที่สนับสนุนการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ทางด้านกลุ่มสหภาพยุโรปก็คาดว่า จะเริ่มหยุดการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณลงภายในปีหน้า ดังนั้น นโยบายการเงินของกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ยังมีทิศทางที่ตึงตัวขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนโยบายการเงินแบบตึงตัวแล้วเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเริ่มเห็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนชัดเจนขึ้น โดยแม้ว่าประเทศสหรัฐตกลงเลื่อนการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากจีนออกไป 90 วันเพื่อเจรจาข้อตกลงการค้า แต่หากไม่สามารถยุติข้อพิพาทได้ คาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่จะชะลอตัวลง ส่งผลให้มีปัญหาเงินทุนไหลออกได้

                 ด้านปัจจัยในประเทศที่สำคัญคือภาวะเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของไทย  โดยข้อมูลเศรษฐกิจที่ประกาศในช่วงหลังเริ่มแสดงภาพการชะลอตัวลง โดยมีการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นตัวฉุด ในขณะที่ตัวเลขการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังเติบโตได้ดี ทำให้หน่วยงานภาครัฐเริ่มปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ในปีนี้และปีหน้าลงเล็กน้อยแต่ยังมีความมั่นใจในการเติบโตของไทย ส่วนนโยบายการเงินก็มีการส่งสัญญานชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าการใช้ดอกเบี้ยที่ระดับต่ำมากเริ่มหมดความจำเป็นเนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีสามารถรองรับการขึ้นดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อกลับมาเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อ ดังนั้นการคงดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปเป็นเวลานานทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน และการใช้มาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) เพียงอย่างเดียวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ   ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินจึงกำลังพิจารณาถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

          เมื่อพิจารณาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศดังกล่าว คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยน่าจะเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวในอนาคตอันใกล้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าศักยภาพ อย่างไรก็ดี วัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้น่าจะปรับแบบช้าๆ และไม่สามารถปรับขึ้นได้มาก เพราะเศรษฐกิจยังเปราะบางและมีความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนเริ่มลดต่ำกว่ากรอบเป้าหมายตามราคาน้ำมันดิบ ทำให้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ไม่เกินสองครั้งภายในปีหน้า โดยอาจปรับขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคมปีนี้ และรอประเมินผลกระทบก่อนจะหาจังหวะปรับขึ้นอีกหนึ่งครั้งภายหลังเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) และรักษาช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐไม่ให้ห่างกันเกินไป อย่างไรก็ดีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายน่าจะส่งผลกระทบกับตลาดตราสารหนี้ไม่รุนแรง เนื่องจากตลาดได้ปรับตัวรองรับการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วระดับหนึ่ง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นน่าจะปรับตัวขึ้นมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ดังนั้นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในปีหน้าน่าจะสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงหรือดีกว่าปีนี้ นักลงทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาวไม่ควรวิตกกังวลเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากเกินไป เพราะการลงทุนในตราสารหนี้ช่วงนี้ถือเป็นระดับที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ส่วนนักลงทุนที่ยังรอจังหวะอาจทยอยเริ่มลงทุนได้ภายหลังเห็นความชัดเจนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้
 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว