เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด



ข้อมูลเศรษฐกิจของไทยในเดือนกรกฎาคมที่ทาง ธปท.รายงานไปเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากรัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังคงโตต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และยังคงมีความเปราะบาง เนื่องจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังคงหดตัวรุนแรง ทั้งนี้ ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 และจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ก่อนที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2564 โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนอย่างมีนัยสำคัญ 
 
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นๆทั่วโลกที่ต่างเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เช่นกัน ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อในต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็ตาม โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหรัฐ ยูโรโซน และจีน ทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ ต่างบ่งชี้ถึงการขยายตัว แต่อย่างไรก็ดี การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เป็นผลมาจากการหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงก่อนหน้า จึงอาจยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐและยูโรโซนจะเติบโตต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงรุนแรง          มีเพียงเศรษฐกิจจีนที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อบ่งชี้ถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และจีดีพีไตรมาส 2/63 ของจีนกลับมาขยายตัว 3.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนคลี่คลายมากขึ้น ในขณะที่จีดีพีสหรัฐหดตัว 31.7% และจีดีพียูโรโซนหดตัว 11.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในไตรมาส 2/63 ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจสหรัฐและยูโรโซนหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
 
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ สภาพัฒน์คาดว่าจะหดตัว 7.3 – 7.8% จากปี 2562 หลังจีดีพีไตรมาส 2/63 หดตัว 12.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาด โดยเป็นการหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน เพราะเป็นช่วงที่มีการล็อคดาวน์ทั่วประเทศ ทางด้าน ธปท. มองว่ามีโอกาสที่จะปรับคาดการณ์จีดีพีในปีนี้เป็นติดลบน้อยลง จากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าอาจหดตัว 8.1%
 
ในภาวะที่ประเทศอื่นๆยังคงมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรง การที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีคงต้องพึ่งการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก โดยการบริโภคภาคเอกชนคิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของจีดีพี และภาคการท่องเที่ยวก็ต้องอาศัยการท่องเที่ยวภายในประเทศมาชดเชยการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 
 
เท่าที่สังเกตจากการตระเวนหาข้อมูล พบว่าภาคการท่องเที่ยวในส่วนที่เน้นนักท่องเที่ยวชาวไทย พบว่าคนไทยเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น (สังเกตได้จากมีข่าวรถติดในถนนสายหลักในทุกวันหยุด) และที่พักหลายแห่งถูกจองเต็มต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการที่ผู้ประกอบการจัดการส่งเสริมการขายที่ดึงดูดมากพอ รวมถึงได้แรงหนุนจากมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของภาครัฐ อีกทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยบางส่วนกลัวว่าหากมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสองก็อาจจะไม่ได้เที่ยวอีกเป็นเวลานาน จึงถือโอกาสเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มนุษย์เงินเดือนอาจมีวันลาพักร้อนเหลือมากกว่าปกติ เพราะไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ในช่วงล็อคดาวน์ จึงใช้วันลาในการเดินทางท่องเที่ยวได้มากขึ้น
 
ในส่วนของการบริโภค ดูเหมือนผู้ที่มีความสามารถในการใช้จ่าย จะใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ไม่ได้ใช้จ่ายมากนัก (ส่วนใหญ่ในช่วงล็อคดาวน์เป็นการช้อปออนไลน์) จึงอาจส่งผลให้มีเงินเก็บมากขึ้น และมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น  อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว ร้านค้าที่เน้นขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ในภาวะเงียบเหงา แตกต่างจากร้านที่เน้นขายสินค้าให้คนไทยที่ค่อนข้างคึกคัก ทั้งนี้ ตัวเลขการบริโภคสำหรับเดือนสิงหาคมออกมาดีกว่าที่คาด เพราะนอกจากผู้บริโภคออกมาใช้จ่ายมากขึ้นแล้ว ในปีนี้ยังมีงานมอเตอร์โชว์ซึ่งช่วยหนุนยอดขายรถยนต์ ผิดไปจากในช่วงปีก่อนหน้าที่ไม่มีการจัดงานในเดือนเดียวกัน
 
ภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดูดีขึ้น น่าจะช่วยหนุนให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยออกมาดีกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี หลายธุรกิจหรือหลายภาคส่วนอาจยังไม่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงนี้ โดยเฉพาะในภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ถึงแม้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวในระยะต่อไปแล้ว แต่ภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกของไทยอาจจะฟื้นตัวช้า เนื่องจากความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคในต่างประเทศอาจลดลง 
 
การที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในแต่ละภาคส่วนอาจฟื้นตัวในอัตราที่เร็วไม่เท่ากัน นักลงทุนจึงจำเป็นต้องศึกษาการลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ต่างๆให้มากขึ้น เพราะความเสี่ยงในช่วงนี้มีมากกว่าปกติ 
 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว