เศรษฐกิจชะลอลง


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด

 
หลังจากที่ตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกออกมาอ่อนแอ นักวิเคราะห์จากหลายหน่วยงานได้ทำการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะโตได้อย่างน้อย 4% สู่ระหว่าง 3.7% - 4.0% โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกสู่ 3% - 5% บนสมมุติฐานว่าสงครามการค้าจะดำเนินต่อไป

นอกจากนี้ ล่าสุดไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงสู่ 3.3% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.5% โดยปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐลงสู่ 2.3% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.5% ปรับลดคาดการณ์จีดีพียูโรโซนลงสู่ 1.3% จากเดิมคาดโต 1.6% แต่ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีจีนขึ้นสู่ 6.3% จากคาดการณ์เดิมที่ 6.2%  ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโของเศรษฐกิจโลกมาจากผลของสงครามการค้า ซึ่งส่งผลให้การค้าในตลาดโลกชะลอตัวลง

การปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกนี้ สะท้อนให้เห็นว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจจโลกกำลังชะลอลง แต่การปรับลดคาดการณ์เพียงเล็กน้อยเป็นการบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงมีความแข็งแกร่ง และไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย และอาจกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆนี้

ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐ ตัวเลขการจ้างงานยังคงมีความแข็งแกร่ง ถึงแม้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องปกติสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรกของทุกปีที่มักจะเป็นไตรมาสที่ตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอที่สุด สำหรับเศรษฐกิจจีนซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้า พื้นฐานเศรษฐกิจจีนในภาพรวมยังคงดีอยู่ โดยอัตราการเติบโตใตหลายๆด้านยังคงสูงกว่าหลายๆประเทศ และตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนแรกของทุกปีมักจะมีความผิดเพี้ยนจากผลของเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ รัฐบาลจีนเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระดับสูงอย่างมีเสถียรภาพ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนน่าจะได้ข้อยุติในเร็วๆนี้  ในส่วนที่น่าเป็นห่วงน่าจะเป็นเศรษฐกิจยุโรป หลังตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆออกมาไม่ดีต่อเนื่อง และอาจถูกซ้ำเติมจากสงครามการค้าหลังสหรัฐขู่ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปเพิ่มเติม

สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เพราะถึงแม้การส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่การบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากราคาสินค้าเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาภัยแล้ง ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ครั้งล่าสุดที่เพิ่มขึ้นราว 15% สู่ 49,000 คัน เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าตัวเลขการบริโภคภายในประเทศมีความแข็งแกร่ง  ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ถึงแม้ในช่วง 2 เดือนแรกแทบไม่เติบโต แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลของเทศกาลตรุษจีน การอ่อนค่าของเงินของประเทศคู่แข่งทางการท่องเที่ยว และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างปากีสถานและอินเดียซึ่งส่งผลให้เที่ยวบินจากยุโรปไม่สามารถบินผ่านน่านฟ้าของทั้ง 2 ประเทศมาไทยได้ในช่วงสั้นๆ  

ทั้งนี้ หากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้รับการแก้ไข การส่งออกของไทยก็น่าจะกลับมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ดี เนื่องจากทั้งสหรัฐและจีนต่างเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆที่มีความเกี่ยวข้องในทางอ้อมในทางการค้ากับสหรัฐและจีน

 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว