ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจหรือไม่


โดย ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด

 

ในปี 2561 ที่ผ่านมานี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 10.82% และดัชนีผลตอบแทนรวมปรับลดลง 8.08% โดยที่ดัชนีทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,838.96 จุด ในวันที่ 24 มกราคม 2561 แต่ปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดให้ตลาดหุ้นไทยร่วงลง ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ยังคงเป็นไปในเชิงบวก โดยแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่ง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มดีขึ้น (สังเกตได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาหนาตา) ในขณะที่การส่งออกในเดือนธันวาคมลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนจากผลของฐานสูง

ในปีที่ผ่านมา การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงส่งผลให้พีอีเรโชของตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นปี 2561 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี (ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก) บ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นไทยมีราคาถูกที่สุดในรอบกว่า 5 ปี ในขณะที่ ตลาดหุ้นหลักทั่วโลกต่างมีค่าพีอีเรโชอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปีเช่นกัน  โดยสาเหตุหลักของการร่วงลงของตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงเป็นเรื่องของความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ตลาดหุ้นทั่วโลกจึงตอบรับความไม่แน่นอนนี้ในเชิงลบ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกทยอยปรับตัวดีขึ้น จากการที่สหรัฐฯและจีนมีการพบปะเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 – 8 มกราคม และขยายระยะเวลาการเจรจาเพิ่มอีก 1 วันในวันที่ 9 มกราคม พร้อมทั้งมีสัญญาณเชิงบวกจากทั้งทางฝั่งสหรัฐฯและจีนว่าการเจรจาดำเนินไปได้ด้วยดี และน่าจะได้ข้อสรุปที่ดี ผิดจากที่ก่อนหน้านี้ซึ่งมักจะมีแต่ข่าวเชิงบวกจากทางสหรัฐฯเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าการเจรจาการค้าในครั้งนี้น่าจะได้ผลในเชิงบวก และช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกได้มาก

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ถึงแม้หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในต่างจังหวัดซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นถึง 13.27% และนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าผลประกอบการในไตรมาส 4/61 จะออกมาดี บ่งชี้ว่าในภาพรวมแล้วเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี สอดคล้องกับตัวเลขการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในระดับสูง 

การที่ตลาดหุ้นไทยร่วงลงในปีที่ผ่านมาจากความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยภายนอก ส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจ เนื่องจากมีค่าพีอีเรโขต่ำที่สุดในรอบกว่า 5 ปี ในขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังคงมีแนวโน้มเติบโตดี ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจของไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง โครงการลงทุนของภาครัฐยังคงสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้การที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเกือบ 3 แสนล้านบาท ส่งผลให้พอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอาจมีการถือครองหุ้นไทยในระดับที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจต้องกลับมาถือครองหุ้นไทยมากขึ้นในอนาคต  ทั้งนี้ หลังจากที่ไทยมีการเลือกตั้งแล้ว อาจจะมีเงินทุนไหลเข้าจากกองทุนบางประเภทที่มีนโยบายว่าจะไม่ลงทุนในประเทศที่ไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง  กอปรกับการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งผลให้มีแนวโมที่เงินลงทุนจะไหลกลับเข้าสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงไทยด้วย  ดังนั้น ผลกระทบที่อาจเกิดจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติจึงมีจำกัด

ในส่วนของปัจจัยภายนอก ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มที่จะได้รับการแก้ไขไปในทางที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น เป็นผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมาปรับตัวดีขึ้น  ในขณะที่ปัญหากรณีที่สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป  นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีขึ้นในอนาคต แต่อาจไม่สร้างความกังวลมากเท่ากับความขัดแย้งทางการค้ากับจีน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ในตลาดคาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 1,700 – 2,000 จุด ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าระดับดัชนีในปัจจุบันพอสมควร สะท้อนว่านักวิเคราะห์ต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในปีนี้ โดยคาดว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้จะเติบโตราว 8 – 12% ซึ่งหากไม่มีปัจจัยลบรุนแรงเข้ามากระทบบรรยากาศการลงทุน นักลงทุนมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปีนี้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน และสามารถรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้หากตลาดไม่เป็นไปตามที่คาดครับ

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว