ตลาดหุ้นสหรัฐจะไปต่อไหม


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด


 
ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ดัชนี S&P500 ของสหรัฐปรับตัวขึ้นมา 22.21% จากราคาปิดเมื่อสิ้นปี 2563 โดยให้อัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีที่ 28.24% และย้อนหลัง 5 ปีที่ 107.46% ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐในช่วงเดียวกันให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 17.00% ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีที่ 23.44% และย้อนหลัง 5 ปีที่ 91.22% และดัชนีแนสแด็กให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ 20.17% ย้อนหลัง 1 ปีที่ 27.80% และย้อนหลัง 5 ปีที่ 190.66% โดยดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดในโลก โดยข้อมูลจาก www.worldometers.info ระบุว่า ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ต่ำกว่า 2% ของประชากรทั้งหมด  ดังนั้น สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐจึงเลวร้ายกว่าไทยมาก แต่ทำไมตลาดหุ้นสหรัฐจึงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และเศรษฐกิจสหรัฐจึงฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง?
การเร่งฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สหรัฐสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้ โดยข้อมูลจาก ourworldindata.org ระบุว่า ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 มีชาวอเมริกันได้รับวัคซีนแล้วประมาณ 53% ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นๆที่สำคัญที่ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเติบโตมากที่สุดในรอบหลายๆปี 

ในแง่ของโครงสร้างเศรษฐกิจ การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 2/3 ของจีดีพีสหรัฐ เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ เห็นได้จากข้อมูลในไตรมาส 2/64 การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 11.9% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ จากการที่ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องหันมาทำงานจากที่บ้าน กลับส่งผลให้ชาวอเมริกันใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ซื้อบ้านขนาดที่ใหญ่ขึ้นเพราะต้องใช้เวลาอยู่ในบ้านมากขึ้น และเมื่อมีการซื้อบ้านก็จะต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในบ้านเพิ่มขึ้น รวมถึงซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆเพื่อใช้ในการทำงาน นอกจากนี้ ชาวอเมริกันจำนวนมากยังหันมาซื้อรถยนต์ส่วนตัวแทนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสในการติดเชื้อ การที่ต้องทำงานอยู่ที่บ้านยังส่งผลให้ชาวอเมริกันมีการใช้จ่ายด้านอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ซื้ออาหารและเครื่องปรุง ซื้อของใช้ภายในบ้านในจำนวนที่มากกว่าปกติเพื่อลดการเดินทาง ซื้อสัตว์เลี้ยงและอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น  

การล็อคดาวน์และการที่ต้องทำงานอยู่ที่บ้านน่าจะส่งผลให้คนจำนวนมากขาดรายได้ แล้วชาวอเมริกันเอาเงินจากไหนมาใช้จ่าย?
เป็นที่ทราบกันว่าชาวอเมริกันจำนวนมากทำงานพิเศษกันตั้งแต่วัยรุ่น ดังนั้น ระยะเวลาที่มีรายได้จึงเริ่มเร็ว และมีระยะเวลาในการเก็บเงินยาวนานกว่าเมื่อเทียบกับการเริ่มทำงานหลังจากจบการศึกษา นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จ่ายเงินเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 ส่งผลให้คนอเมริกามีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 

การที่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นมากในปีที่แล้วมีสาเหตุหลักมาจากการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งได้ประโยชน์จากการที่คนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมาเติบโตอย่างรวดเร็ว  ทั้งนี้ การปรับขึ้นของตลาดหุ้นมีส่วนช่วยหนุนความมั่งคั่งของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ โดยข้อมูลจาก usafacts.org ระบุว่าในปี 2019 ครอบครัวอเมริกันราว 53% มีการลงทุนในหุ้น โดยมีมูลค่าลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อครอบครัว โดยที่จำนวนครอบครัวที่ลงทุนโดยตรงในหุ้นมีเพียง 15% นอกนั้นเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมและกองทุนเพื่อการเกษียณ การที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นกอปรกับราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวอเมริกันมีเงินออมส่วนเกินเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

นอกจากนี้ การที่ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงมีเงินเหลือเพียงพอสำหรับใช้จ่าย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงไม่ออกมาหางานทำ ให้บริษัทต่างๆต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงดูดแรงงาน จึงมีแนวโน้มว่าชาวอเมริกันจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอีก โดยการจ้างงานในสหรัฐเมื่อสิ้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมายังคงมีผู้ทำงานน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 อยู่ราว 5.7 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่กว่า 10 ล้านตำแหน่ง 

โดยสรุป มีหลายปัจจัยที่ช่วยหนุนความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐ ได้แก่ เงินเก็บจากการทำงาน เงินเยียวยาจากรัฐบาล เงินลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้น และค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและช่วยหนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐให้ปรับตัวสูงขึ้นต่อไป  อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่ต้องระวังคือ มาตรการขึ้นภาษีของนายโจ ไบเด็น และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐอาจส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทในสหรัฐลดลง รวมถึงความเสี่ยงที่ธนาคารกลางสหรัฐอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งกว่าที่ประเมินไว้ 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว