การลงทุนอย่างมีอคติส่งผลกับพอร์ตอย่างไร


Fund Insight : โดย ศิริพร  สินาเจริญ, CFA 

กรรมการผู้จัดการ  บลจ.กรุงศรี จำกัด

หลายครั้งที่นักลงทุนจำนวนไม่น้อยได้มีการโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์ทำนองว่าลงทุนแล้วติดดอยอยู่นาน เมื่อไรจะมีกำไรจากการลงทุน  หรือพอร์ตติดลบควรถือต่อหรือตัดใจขาย คำถามต่างๆเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงศาสตร์ทางการเงินที่มีชื่อว่า “การเงินเชิงพฤติกรรม” หรือ Bahavioral Finance ที่กล่าวถึงแนวคิดหรือปรัชญาการลงทุนที่มีอคติหรือความเอนเอียงของการตัดสินใจอันเกิดจากอารมณ์ซึ่งมีอยู่หลายประเภท แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะอคติที่พบเจอบ่อยๆ และส่งผลเชิงลบต่อผลตอบแทนของการลงทุนในระยะยาว  เช่น 
 
Recency Bias: อคติประเภทนี้คือ พฤติกรรมการลงทุนที่เกาะกระแสที่กำลังร้อนแรง เช่น คนอื่นบอกว่าช่วงนี้สินทรัพย์ตัวนี้ดีกำลังได้รับความนิยมก็รีบลงทุนตามโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์นั้นอย่างถี่ถ้วน พฤติกรรมประเภทนี้ทำให้ผู้ลงทุนไม่ยอมซื้อหุ้นในเวลาที่ควรซื้อและขายหุ้นในเวลาที่ไม่ควรขาย วิธีการแก้ไขคือ ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลในสินทรัพย์ที่จะลงทุน ใช้วิจารณญานในการรับฟังข่าวสาร  และลดการให้ความสำคัญกับการลงทุนตามกระแสที่ตนเองยังไม่มีข้อมูลมากพอ

Overconfidence Bias: อคติประเภทนี้คือผู้ลงทุนมีความมั่นใจมากเกินไป ก่อให้เกิดความประมาทในการประเมินความเสี่ยงและมีการตั้งความหวังต่ออัตราผลตอบแทนที่สูงเกินไป อาจนำไปสู่การลงทุนแบบ “ทุ่มสุดตัว” เพื่อนำเงินไปลงทุนกับสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป วิธีแก้อคติประเภทนี้คือ ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่จะลงทุนอย่างรอบคอบ และประเมินถึงความเป็นไปได้ในอนาคต โดยอาจจะนำข้อมูลเชิงสถิติในอดีตมาร่วมคาดการณ์ด้วย

Blind spot and Hindsight Bias: คือการคิดเข้าข้างตัวเองเป็นหลัก  อาจจะเห็นข้อผิดพลาดของคนอื่นแต่ไม่เห็นข้อผิดพลาดของตนเอง โดยมีความเชื่อว่าแนวทางหรือทฤษฎีการลงทุนของตนเองเป็นวิธีที่ดีแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอคติประเภทนี้คืออาจพลาดโอกาสที่ดีในการลงทุนได้  ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรเรียนรู้จากประสบการณ์และข้อผิดพลาดของผู้อื่นด้วยใจที่เป็นกลาง และหมั่นทบทวนแผนการลงทุนของตนเองเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด 

Anchoring Bias:  อคติประเภทนี้ผู้ลงทุนจะมีความเชื่อว่าสิ่งที่กำลังลงทุนอยู่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วและจะดีต่อไปเรื่อยๆ    โดยไม่คำนึงว่าพื้นฐานของสินทรัพย์อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่าง เช่น ไม่มีใครคิดว่าบริษัท NOKIA ซึ่งเป็นผู้นำแห่งวงการโทรศัพท์มือถือในปีคศ.1990 – 2000 จะกลายมาเป็นบริษัทที่ประสบผลขาดทุนและถูกซื้อกิจการโดยบริษัทอื่น เพียงเพราะบริษัทไม่มีการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้ Smart Phone  ดังนั้นหากเราเป็นผู้ลงทุนในหุ้น NOKIA และมีพฤติกรรม Anchoring Bias ก็อาจจะทำให้ติดดอยในการลงทุนได้

Home Bias: คือ อคติอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าสินทรัพย์หรือการลงทุนในประเทศมีความน่าสนใจกว่าการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ อคติประเภทนี้ทำให้ผู้ลงทุนพลาดโอกาสที่ดีในการลงทุน เพราะแต่ละประเทศจะมีวงจรเศรษฐกิจขาขึ้น-ขาลงที่ไม่เหมือนกัน เช่น ถ้าในขณะที่ประเทศไทยกำลังประสบกับสภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจประเทศอื่นจะชะลอตัวด้วยเสมอไป และในบางครั้งตลาดหลักทรัพย์ไทยอาจจะไม่มีอุตสาหกรรมบางประเภทที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นให้เลือกลงทุน เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หรือหุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว จากการดำเนินธุรกิจที่มีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก 
ดังนั้น หากจัดการกับอคติในการลงทุนในรูปแบบของพฤติกรรมต่างๆ ได้ จะช่วยให้พอร์ตการลงทุนมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว