จับตาตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐ


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด


ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตอกย้ำว่าเฟดจะพิจารณาปรับลดวงเงินตามมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QE) ลงภายในปีนี้ หลังเศรษฐกิจมีพัฒนาการไปสู่เป้าหมายของเฟด โดยคาดว่าจะยุติมาตรการ QE ในช่วงกลางปีหน้า อย่างไรก็ดี ประธานเฟดระบุว่า การปรับลดมาตรการ QE ไม่ได้หมายความจะมีการขึ้นดอกเบี้ย และเฟดจะต้องพิจารณาในหลายๆด้าน โดยที่การกลับมาระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดการณ์ของเฟดบ่งชี้ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงสิ้นปีหน้า

ความเห็นของประธานเฟดส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของเฟดมาก เนื่องจากประธานเฟดย้ำว่าการที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับสูงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราวจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวและผลของฐานต่ำ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและจากปัญหาคอขวดในภาคอุปทาน โดยเฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงหลังจากปัญหาเหล่านี้คลี่คลายลง
ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของเฟดมี 2 ประการ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อมีเสถียรภาพอยู่ที่ระดับใกล้ 2% และมีการจ้างงานเต็มที่ โดยในส่วนของอัตราเงินเฟ้อเฟดมองว่ามีพัฒนาการที่ดีมาก ในขณะที่ในส่วนของการจ้างงาน เฟดคาดหวังว่าหลังจากมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ว่างงานของรัฐบาลหมดไป แรงงานน่าจะกลับมาหางานทำและส่งผลให้ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครมีมากกว่า 10 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์


อย่างไรก็ดี ตัวเลขภาคแรงงานมีทิศทางไม่ชัดเจน โดยตัวเลขการจ้างานนอกภาคเกษตรกรรมเดือนสิงหาคมและกันยายนออกมาต่ำกว่าที่คาดมาก และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องก่อนที่จะลดลงในช่วงปลายเดือนกันยายน ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเป็นเพียงการชะลอตัวหลังจากเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนอธิบายว่าเป็นเพราะการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าส่งผลให้คนไม่กล้าออกมาหางานทำ และผู้ประกอบการเกิดความไม่แน่ใจว่าผลกระทบจากการระบาดจะมีมากน้อยเพียงใด

การที่ตัวเลขการจ้างงานยังไม่ได้มีทิศทางดีขึ้นอย่างชัดเจนอาจเป็นสัญญาณว่าสิ่งที่เฟดคาดหวังว่าการจ้างงานจะปรับตัวดีขึ้นอาจเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาด ทั้งนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลได้หมดลงเมื่อวันจันทร์ที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา โดยชาวอเมริกันที่ว่างงานราว 7.5 ล้านคนจะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการ ในขณะที่การจ้างงาน ณ สิ้นเดือนสิงหาคมยังคงอยู่ต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิดราว 5.3 ล้านคน ทั้งนี้ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการช่วยเหลือแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ราว 4 ล้านคนเนื่องจากมีการยกเลิกมาตรการก่อนกำหนดในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม โดยที่เพียง 12.5% จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการสามารถหางานใหม่ได้ และผู้ว่างงานจำนวนมากยังไม่คิดหางานทำเนื่องจากยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการกลับมาระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของเจพี มอร์แกน ระบุว่า จากการศึกษาไม่พบความเชื่อมโยงใดๆระหว่างการยกเลิกมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ว่างงานกับการจ้างงาน ในขณะที่ผลสำรวจของ Prudential, Microsoft และ Monster ระบุว่า แรงงาน 25 – 95% กำลังพิจารณาที่จะหางานใหม่หลังจากวิกฤตโควิดคลี่คลาย เนื่องจากพบว่าสามารถเลือกทำงานที่มีความยืดหยุ่น เช่น ทำงานจากที่บ้าน หรือสามารถเรียกค่าจ้างได้มากขึ้นจากการที่มีตำแหน่งงานเปิดรับมากกว่าคนสมัครงานมาก รวมถึงแรงงานบางส่วนรู้สึกผิดหวังที่ผู้ว่าจ้างดูแลไม่ดีพอในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด

จากข้อมูลต่างๆที่นำเสนอมานี้ บ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงที่การจ้างงานอาจไม่เพิ่มขึ้นมากอย่างที่เฟดคาดหวังไว้ ในขณะที่การกลับมาระบาดของโควิดทั้งสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์มิวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น อีกทั้งการยกเลิกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ว่างงานจะส่งผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ซึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐ และเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากการใช้จ่ายของผู้บริโภคอ่อนแอลง ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐก็จะอ่อนแอลง และจะส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐลดลงตามอุปสงค์ที่ลดลง

ด้วยเหตุนี้ ประธานเฟดจึงได้ระบุว่าจะต้องรอดูความคืบหน้าของตัวเลขเศรษฐกิจและพิจารณาจากปัจจัยในหลายๆด้านก่อนที่จะเริ่มปรับลด QE ดังนั้น หากตัวเลขเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามที่เฟดคาด เฟดก็อาจส่งสัญญาณชะลอการปรับลด QE หรือส่งสัญญาณว่าการปรับลด QE อาจเป็นไปอย่างช้าๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ส่งสัญญาณเพียงว่าจะเริ่มปรับลด QE ในปีนี้ และแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็อาจชะลอออกไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้น นักลงทุนควรติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานและการบริโภค อาทิ จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ซึ่งมีการรายงานทุกวันพฤหัสบดี การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมซึ่งรายงานทุกวันศุกร์แรกของเดือน ยอดค้าปลีก และการใช้จ่ายส่วนบุคคล เป็นต้น เพราะทิศทางการดำเนินนโยบายของเฟดมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุนทั่วโลก

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว