ตลาดการลงทุนฟื้นตัวจริงหรือ?


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด



ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และทองคำผันผวนอย่างมาก โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยร่วงลงไปแตะจุดต่ำสุดในวันที่ 13 มีนาคม ที่ 969.08 จุด ก่อนที่จะปิดตลาดในวันเดียวกันที่ 1,128.91 จุด โดยมีจุดสูงสุดของวันที่ 1,164.46 จุด หรือมีช่วงห่างระหว่างจุดสูงสุดกับจุดต่ำสุด 195.08 จุด  
 
ทางด้านตลาดตราสารหนี้มีความผันผวนจากแรงเทขายของนักลงทุน ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดลดลงอย่างมาก และส่งผลให้ราคาพันธบัตรปรับตัวลดลง โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาแทรกแซงตลาดรวมถึงมีมาตรการเสริมสภาพคล่อง ตลาดตราสารหนี้จึงเริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น
 
ส่วนราคาทองคำในตลาดโลกร่วงลงจากจุดสูงสุดของเดือนเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ 1,677.00 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ สู่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1,469.38 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ในวันที่ 19 มีนาคม ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว กลับมาซื้อขายที่ระดับเหนือ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2563)
 
ความผันผวนในสินทรัพย์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเดือนที่ผ่านมา มีสาเหตุหลักจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากหลายประเทศอยู่ในภาวะ lockdown แบบเต็มรูปแบบ หรือ lockdown เป็นบางส่วน เช่น ปิดการเข้าออกประเทศ บังคับให้คนอยู่บ้าน ปิดการเดินทางระหว่างเมือง เป็นต้น ส่งผลให้ธุรกิจหลายประเภทหยุดดำเนินการชั่วคราว  นักลงทุนจึงลดการลงทุนและหันมาถือเงินสดมากขึ้น เพราะประเมินว่าผลประกอบการของบริษัทต่างๆจะเลวร้ายลงอย่างมาก และความสามารถในการชำระหนี้จะลดลง  นอกจากนี้ การที่ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียทำสงครามราคาน้ำมันหลังจากไม่สามารถตกลงกันได้ในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสดิ่งลงสู่ระดับ 20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล  
 
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับฟื้นตัวเฉลี่ย 10% จากจุดต่ำสุด ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดการลงทุนในครั้งนี้   ยังคงสร้างคำถามให้แก่นักลงทุนส่วนใหญ่ว่า เป็นการฟื้นตัวจริงหรือแค่รีบาวนด์ช่วงสั้นๆ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และหลายประเทศยังคงอยู่ในภาวะ lockdown  
 
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดมีสาเหตุจากรัฐบาลและธนาคารกลางหลายประเทศมีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และรัสเซียกับซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มที่จะกลับมาเจรจาเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน  ในขณะที่เริ่มมีสัญญาณเชิงบวกจากสหรัฐและยุโรปจากการที่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง

การฟื้นตัวของตลาดจะยั่งยืนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะดีขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ และซาอุดิอาระเบียกับรัสเซียจะยุติการทำสงครามราคาน้ำมันหรือไม่ ในขณะที่การปรับลดคาดการณ์ผลประกอบของบริษัทต่างๆและการผิดนัดชำระหนี้น่าจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนคาดไว้อยู่แล้ว รวมถึงรัฐบาลประเทศต่างๆน่าจะเตรียมมาตรการรองรับการผิดนัดชำระหนี้ที่จะมีขึ้นในอนาคตไว้บ้างแล้ว  
 
อย่างไรก็ดี สิ่งที่คาดหวังได้ก็คือ การลงทุนในช่วงนี้เป็นช่วงที่มาตรการต่างๆของภาครัฐทั่วโลกมีความผ่อนคลายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และน่าจะมีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น เงินลงทุนที่ถูกถอนออกไปจำนวนมากอาจจะกลับเข้ามาลงทุนในอนาคต และการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลง ซึ่งหมายถึงอนาคตจะต้องดีกว่าวันนี้
 
ในส่วนของการลงทุน ไม่มีนักลงทุนท่านใดที่สามารถลงทุนได้ที่จุดต่ำสุดทุกครั้งหรือขายสินทรัพย์ได้ที่จุดสูงสุดทุกครั้ง สำหรับนักลงทุนที่เป็น value investor มักจะเริ่มลงทุนเมื่อเห็นว่าราคาสินทรัพย์มีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง นักลงทุนที่เป็น contrarian investor ก็มักจะลงทุนในช่วงที่ตลาดอยู่ในภาวะเลวร้ายมากๆ ในขณะที่นักลงทุนที่เป็น momentum investor มักจะรอดูสถานการณ์ให้มั่นใจ และตลาดมีทิศทางเป็นขาขึ้นที่ชัดเจน จึงจะเริ่มเข้าลงทุน จะเห็นได้ว่าสไตล์การลงทุนของนักลงทุนแต่ละประเภทมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนั้นหากจะให้ตอบว่าควรลงทุนหรือยัง ก็ขึ้นอยู่กับว่าท่านเป็นนักลงทุนแบบใด แต่หากท่านไม่ชำนาญในการจับจังหวะในการลงทุน ก็อาจเริ่มทยอยลงทุนในจำนวนที่เท่าๆกันอย่างมีวินัย
 
สำหรับตลาดการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงนี้น่าจะเป็นตลาดหุ้นจีน เพราะสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนดีขึ้นอย่างมาก โดยรัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีเครื่องมือที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอีกมาก โดยถึงแม้การส่งออกของจีนอาจจะยังคงมีปัญหาเนื่องจากหลายประเทศยังคง lockdown แต่จีนสามารถใช้การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศมาชดเชยการหดตัวของการส่งออกได้  ดังนั้น จึงอาจคาดได้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเริ่มเดินหน้าต่อ ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศอื่นๆยังคงหยุดชะงัก
 
 
 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว