ใครว่าสาย... เกษียณสบาย... เป็นไปได้ (กูรูแนะให้ โดย ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์)


Retire_02-(1).jpg

ใครว่าสาย... เกษียณสบาย... เป็นไปได้
ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ (รัก)   Facebook: Atchara Yomsin
 
มีข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “การเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 40 - 60 ปี” (2555) โดยคณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า...คนไทยเริ่มวางแผนเกษียณในวัย 42 ปี!!!
 
ส่วนสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งสำรวจข้อมูลประชากรสูงอายุเมื่อปี 2550 พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 31.3 ไม่มีเงินออมสำหรับใช้ในวัยเกษียณ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 53 มีเงินออมไม่ถึง 200,000 บาท ซึ่งถ้าจะมีชีวิตหลังเกษียณอีกสัก 20 ปี ก็จะมีเงินใช้จ่ายได้วันละ 27 บาท!! ผลสำรวจยังระบุว่ามีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่มีเงินออมมากกว่า 700,000 บาท
 
คุณล่ะ? เป็นเหมือนกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยเหล่านี้หรือไม่? คือ วางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณค่อนข้างช้า (หรือยังไม่ได้เริ่มเลย) แถมยังไม่แน่ใจว่า เกษียณแล้วจะมีเงินเก็บเงินออม มีเงินจากสวัสดิการการทำงานสักกี่บาท... 
ใครที่ต้องเผชิญชะตากรรมแบบนี้ คงน่าเศร้าและสะเทือนใจไม่น้อย... เพราะสู้อุตส่าห์ขยันทำงานหาเงินมาตลอดชีวิต แต่ต้องเกษียณไปแบบมีสตางค์ไม่พอใช้ในวัยเกษียณ... แม้ว่าเงินจะไม่สามารถดลบันดาลทุกอย่างให้เราได้ แต่ในเบื้องต้นเราก็ควรมีเงินจำนวนหนึ่งที่ “เพียงพอ” สำหรับการสร้างความสุขกายสบายใจในระดับพื้นฐาน ซึ่งเท่าไรจึงจะเพียงพอ คงไม่มีใครฟันธงให้เราได้... ตัวเลขเงินก้อนที่ควรจะมีเพื่อวัยเกษียณ เราต้องประมาณการเองจากไลฟ์สไตล์ที่เราวางแผนไว้...
 
เริ่มต้นวันนี้ได้เลย... ลองหลับตาเบาๆ ทำใจให้สบายๆ นึกภาพตัวเองในวัยเกษียณว่าต้องการทำอะไร อยู่ที่ไหน วิถีชีวิตเป็นอย่างไร จะกินอยู่อย่างไรน่าจะใช้สตางค์เดือนละสักกี่บาท และสำคัญที่สุดอายุขัยน่าจะยืนยาวไปจนถึงเมื่อไร... หากหลังเกษียณในวัย 60 ปี คุณมองเห็นภาพตัวเองเป็นผู้สูงวัยที่อารมณ์ดี มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ มีอายุยืนยาวไปจน 90 ปี ใช้เงินเดือนละสัก 10,000 บาท ก็น่าจะต้องเตรียมสตางค์ไว้สัก 3,600,000 บาท (10,000 x 360 เดือน) ถ้าอยากจะใช้เดือนละ 20,000 บาท หลังเกษียณ 30 ปี หรือ 360 เดือน ก็ควรเตรียมสตางค์ไว้สัก 7,200,000 บาท (20,000 x 360 เดือน)
คำเตือน โปรดระวัง!!! ชีวิตหลังเกษียณ อาจจะน่ากลัวกว่าชีวิตหลังความตาย
300 เดือนหลังเกษียณ เตรียมเงินไว้พอใช้หรือยัง
 
ข้อมูลต่อมาที่ต้องประมาณการ ก็คือ เงินที่เราจะมี ณ วันเกษียณ ทั้งเงินออมเงินลงทุนของเราเอง เงินสวัสดิการจากการทำงาน เงินสวัสดิการอื่นๆ ที่จะได้รับ ต้องลองประเมินดูว่า เงินก้อนนี้คิดเป็นจำนวนเท่าไร เพียงพอหรือไม่กับความต้องการใช้จ่ายในวัยเกษียณของเรา (ประมาณ 300 – 360 เดือน) ถ้ายังไม่พอ ต้องรีบจัดการ!!!
 
เอ.... แล้วทำงานมาตั้งนาน เงินหายไปไหนหมด? คำถามนี้สำคัญไม่แพ้กัน... นั่นสิ ทำงานมาก็หลายปี เงินในบัญชีทำไมจึงน้อยนัก? ใครตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้จะต้องทบทวนอย่างจริงจัง ว่าหาเงินมาได้... แล้วเงินไปไหนหมด? ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เรา “รู้” และ “เข้าใจ” ที่มาที่ไปของเงินของเราเองก็คือ “ไดอารี่การเงิน” หรือ “บันทึกรายได้ค่าใช้จ่าย” ที่ควรจะจดทุกวัน ใครจดได้ทุกครั้งที่จ่าย... รับรองได้เลยว่าสถานการณ์ทางการเงินจะกลับจากร้ายกลายเป็นดี เพราะไดอารี่การเงินเป็น “งบสแกนกรรม” ที่ชัดเจนที่สุดในการสะท้อนพฤติกรรมทางการเงินของเรา ลองจดรายได้ค่าใช้จ่ายดูสักสามสี่สัปดาห์จะเห็นผลทันตา ว่ามีค่าใช้จ่ายรายการใดบ้างที่พอจะจัดการได้ ที่จะตัดจะลดลงได้บ้าง... อย่างค่าใช้จ่ายยอดนิยมที่คนส่วนใหญ่มักจะลดลงได้ทันทีเป็นรายการแรกๆ คือ ค่ากาแฟ ค่าชานมไข่มุก ที่ดื่มกันเป็นประจำวันละแก้วสองแก้ว... 
 
เพียงคิดสักนิด วันละ 50 บาท วันละ 100 บาท ปีๆ นึง คิดเป็นเงินรวมแล้ว หลายหมื่นบาททีเดียว นอกจากกาแฟแล้ว ยังจะมีกระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่เกินจำเป็นอีกเต็มบ้าน เงินที่หายไปจากบัญชีเพราะเหตุเกินจำเป็นเหล่านี้ อาจจะกำลังทำลายความมั่นคงทางการเงินในอนาคตของเราอยู่ก็เป็นได้... ถึงเวลาที่จะต้องปรับต้องเปลี่ยน ต้องจัดการตัวเองแล้วหรือยัง?
 
จะดีกว่าไหม? หากนำเงินที่หายไปเหล่านี้ไปลงทุนไว้เป็นทุนรอน เป็นเสบียงไว้เลี้ยงดูตนเองในวัยเกษียณ ลองเปลี่ยนกาแฟวันแก้ว เปลี่ยนกระเป๋า รองเท้า หรืออบายมุขต่างๆ ให้กลายเป็น “กองทุนรวม” สักกองสองกอง รับรองความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตทางการเงินจะลดลงทันที เพราะการลงทุนในกองทุนรวมมีให้เลือกมากมาย หลายระดับความเสี่ยง ใครยังมีความรู้ทางการเงินไม่มากนัก ต้องลองปรึกษาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนดู ลองให้เค้าวัดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ให้ดู รวมทั้งให้ลองแนะนำกองทุนรวมที่เหมาะสมกับตัวเราดู แล้วลงทุนระยะยาวๆ ไว้บ้างเพื่อไว้เก็บเกี่ยวไว้กินไว้ใช้ในวัยเกษียณ 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครที่ไม่เคยวางแผนภาษี ไม่รู้วิธีประหยัดภาษีที่เหมาะสมควรเลือกลงทุนในกองทุนรวม LTF หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-term equity fund) และกองทุนรวม RMF หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement mutual fund) เพราะนอกจากจะเหมาะสมกับการลงทุนระยะยาวแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย... 
 
ใครพร้อมรับความเสี่ยงได้สักหน่อย ควรจะเลือกลงทุนในกองทุนรวม LTF เยอะสักนิด โดยเน้นการลงทุนระยะยาว เพราะกองทุนรวม LTF มีนโยบายลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% จึงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว และจะยิ่งดีหากเลือกกองทุนที่มีการกระจายการลงทุนไปในหุ้นดีมีคุณภาพ และมีความหลากหลาย เช่น กระจายไปลงทุนในตลาดหุ้นหลายๆ ตลาด หรือเลือกกองทุนที่ลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น
ส่วนกองทุนรวม RMF ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย จึงมีทางเลือกมากมายตามระดับความเสี่ยงที่เราพร้อมยอมรับได้ ใครคิดว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก ก็เลือกลงกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก เน้นๆ อีกอย่างหนึ่ง คือ ควรเลือกกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารกองทุน... และหากต้องการจะกระจายความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกสักระดับหนึ่งก็ให้ลงทุนในกองทุนรวมทั้งกองทุน RMF และกองทุน LTF 
 
ลองคิดดูดี... การไม่ลงทุน บางทีก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง... เสี่ยงที่จะขาดทุนจากภาวะเงินเฟ้อ เสี่ยงที่เงินออมจะงอกเงยไม่พอให้ใช้ในอนาคต เสี่ยงที่จะเงินหมดเพราะใช้เงินเก่ง... ใครจะลดความเสี่ยงควรวางแผนการลงทุนแล้วเริ่มลุยทันทีเพื่ออนาคตทางการเงินที่มั่นคงในวัยเกษียณ
 
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ LTF | RMF และโปรโมชั่น คลิกที่นี่

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว