สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
10/01/2567

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดผสมผสาน โดยตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนยังคงประเมินทั้งขนาดและช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ พร้อมกับจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้
  • นักลงทุนลดน้ำหนักต่อการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือน มี.ค. ปีนี้ ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.053% เมื่อคืนนี้
  • FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 65.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. ซึ่งลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ให้น้ำหนัก 79% โดยนักลงทุนปรับลดการคาดการณ์ดังกล่าวหลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงเกินคาดในเดือน ธ.ค. ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้
  • เจ้าหน้าที่เฟดได้ออกมาส่งสัญญาณในเชิงสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไป โดยนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้ากล่าวว่า เฟดมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป ขณะที่นางมิเชล โบว์แมน หนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสิ้นสุดลงแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
  • นักลงทุนรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งตัวเลขเงินเฟ้อ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือน ธ.ค. ในวันพฤหัสบดี (11 ม.ค.) นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบโดยตลาดปรับตัวลง หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วยุโรปปรับตัวขึ้น โดยหุ้นกลุ่มทรัพยากรพื้นฐานร่วงลง 1.4% และหุ้นกลุ่มธนาคารลดลง 0.8% หลังบวก 3 วันติดต่อกัน แต่หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ปรับตัวขึ้นต่อเป็นวันที่สอง โดยบวก 0.7% ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 17 สัปดาห์ โดยหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 15% ของดัชนีหุ้นยุโรป
  • ตลาดถูกกดดันจากข้อมูลอัตราการว่างงานของยูโรโซนนั้นลดลงเกินคาดสู่ระดับ 6.4% ในเดือน พ.ย. ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 6.5%
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยวานนี้ (9 ม.ค.) ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลง 0.7% ในเดือน พ.ย. เทียบกับเดือน ต.ค. นับเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเดือนที่ 6 ซึ่งสวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย.ของเยอรมนีจะปรับขึ้น 0.2%
  • นักลงทุนรอติดตามการรายงานผลประกอบการในสหรัฐ และการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ (11 ม.ค.) ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก
  • ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดบวก แตะระดับสูงสุดในรอบ 34 ปี เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหลังจากหุ้นกลุ่มดังกล่าวทะยานขึ้นอย่างมากที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา
  • รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลในวานนี้ (9 ม.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด แต่รวมเชื้อเพลิง ในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้น 2.1% ในเดือน ธ.ค. 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยชะลอตัวจากระดับ 2.3% ในเดือน พ.ย.
  • การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นลดลง 2.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน พ.ย. หลังจากลดลง 2.5% ในเดือน ต.ค. และเป็นการลดลงมากกว่าที่ตลาดคาด โดยการใช้จ่ายลดลงเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน ตามการลดลงของยอดใช้จ่ายด้านอาหาร พลังงาน และค่าสาธารณูปโภค   
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวก โดยตลาดได้ปัจจัยบวกจากการที่นายโซ หลาน หัวหน้าฝ่ายนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน (PBOC) กล่าวว่า PBOC อาจจะใช้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งรวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินผ่านทางตลาดการเงิน (Open Market Operation) โครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) และ RRR เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้เติบโตในระดับที่เหมาะสม การแสดงความเห็นของนายโซเป็นการส่งสัญญาณปรับลด RRR หลังจากที่นายโซเคยแสดงความเห็นในลักษณะดังกล่าวเมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว ก่อนที่ PBOC จะปรับลด RRR ในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน
  • ตลาดหุ้นไทยปิดลบโดยซื้อขายในแดนบวกตลอดช่วงเช้า นำโดยหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวขึ้นตาม NASDAQ ของสหรัฐ อย่างไรก็ดี ดัชนีแกว่งตัวลงสู่แดนลบในช่วงบ่าย จากแรงขายหุ้นกลุ่มพาณิชย์ เนื่องจากนักลงทุนประเมินว่าโครงการ digital wallet ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ปิดตลาดดัชนีปรับตัวลดลง ในขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคมีทั้งปิดบวกและลบ

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

ตลาดยังขาดปัจจัยใหม่ โดยรอติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐ ที่จะประกาศในวันพฤหัสบดี (11 ม.ค.) นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ระยะสั้นคาดว่าสินทรัพย์เสี่ยงจะยังถูกขับเคลื่อนโดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง แนะนำหาโอกาสลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ราคายังอยู่ในโซนถูก ทั้งนี้หากรับความเสี่ยงได้ไม่มาก แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกในจังหวะที่อัตราผลตอบแทน (bond yield) ปรับสูงขึ้น เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่ดีจากดอกเบี้ยและส่วนต่างราคา (capital gain) ในอนาคต หากเฟดปรับลดดอกเบี้ยลง

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,525.16 จุด ลดลง 157.85 จุด หรือ -0.42%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,756.50 จุด ลดลง 7.04 จุด หรือ -0.15% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,857.71 จุด เพิ่มขึ้น 13.94 จุด หรือ +0.09%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 477.26 จุด ลดลง 0.92 จุด หรือ -0.19%
    • ดัชนีนิกเกอิปิดที่ 33,763.18 จุด พุ่งขึ้น 385.76 จุด หรือ +1.16%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 2,893.25 จุด เพิ่มขึ้น 5.71 จุด หรือ +0.20%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 1.47 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 72.24 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ. ลดลง 50 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 2,033.00 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,414.93 ลบ 3.52 จุด (-025%) Trading Volume: 42,573.95 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพลังงาน (-0.54%) และกลุ่มธนาคาร (+0.29%) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,005.87 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับลดลง 1-5 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับลดลง 1-3 bps
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับลดลง 2-3 bps
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับลดลง 1-5 bps
      • IRS SWAP ปิดปรับแกว่งตัว 1-3 bps   
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 44,626.53 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,784.65 ล้านบาท 
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน