สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
17/01/2567

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดลบ โดยตลาดถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 4% รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการที่ไร้ทิศทางของธนาคารรายใหญ่ในสหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงอย่างหนักของหุ้นโบอิ้งและหุ้นแอปเปิ้ล
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวขึ้น 0.11% สู่ระดับ 4.064% หลังจากนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แต่จะเป็นการปรับลดอย่างระมัดระวังและไม่รวดเร็วตามที่ตลาดคาดการณ์ "ในวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมา เฟดดำเนินการอย่างรวดเร็วและปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวนมาก แต่ในรอบนี้ ผมยังไม่เห็นเหตุผลที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเหมือนในอดีต ผมมองว่าตราบใดที่เงินเฟ้อไม่ดีดตัวขึ้นและทรงตัวในระดับสูง เฟดจะสามารถปรับลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ แต่จะดำเนินการอย่างเป็นระบบและอย่างระมัดระวัง" นายวอลเลอร์กล่าว
  • FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 63.3% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 19 - 20 มี.ค. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนัก 76.9%
  • นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 35.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 - 5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนักเพียง 19.0%
  • ธนาคารมอร์แกน สแตนลีย์ เปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 0.85 ดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.01 ดอลลาร์ ขณะที่หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ขยับขึ้นเพียง 0.7% หลังธนาคารเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 5.48 ดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.51 ดอลลาร์
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ เนื่องจากความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ดับความหวังเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และตลาดถูกกดดันจากการเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียนในยุโรปด้วย
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในยุโรปเป็นไปอย่างผันผวน หลังผู้กำหนดนโยบายของ ECB บ่งชี้ถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาสเกือบ 24% ที่ ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกในเดือน มี.ค. ซึ่งลดลงจากโอกาสมากกว่า 30% ในสัปดาห์ก่อน
  • บริษัท ฮิวโก้ บอส ซึ่งเป็นบริษัทแฟชั่นของเยอรมนี เปิดเผยผลประกอบการขั้นต้นต่ำกว่าคาดในไตรมาส 4/2566 ส่วนบริษัท ลินด์ แอนด์ สปริงลี ซึ่งเป็นผลิตช็อกโกแลตของสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยยอดขายปี 2566 สูงเกินคาด โดยได้แรงหนุนจากราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น
  • ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนลดลงสู่ 22.7 ในเดือน ม.ค. จาก 23.0 ในเดือน ธ.ค.
  • ดัชนีราคาผู้ผลิตของญี่ปุ่นทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ธ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน พ.ย. และผิดไปจากที่ตลาดคาดว่าอาจลดลง 0.3%
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดบวก ก่อนที่ทางการจีนจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ยอดค้าปลีก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม
  • นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า GDP ของจีนอาจจะขยายตัว 5.2% ในปี 2566 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลจีน ขณะเดียวกันคาดว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจขยายตัว 6.7% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. ที่มีการขยายตัว 6.6% และคาดว่ายอดค้าปลีกเดือน ธ.ค. อาจเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งต่ำกว่าในเดือน พ.ย. ที่มีการขยายตัว 10%
  • ตลาดหุ้นไทยวานนี้ซื้อขายในแดนลบตลอดทั้งวัน ปิดปรับตัวลดลง ทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนรอดูข้อมูลเศรษฐกิจจีน และทิศทางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

มีมุมมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งแรกในเดือน มี.ค. อาจจะเร็วเกินไป เพราะถ้าดูจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงออกมาดี รวมถึงข้อมูลตัวเลขแรงงานก็ยังคงแข็งแกร่ง อีกทั้งเจ้าหน้าที่เฟดยังมีมุมมองว่าเร็วเกินไปที่จะประกาศลดอัตราดอกเบี้ย

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,361.12 จุด ลดลง 231.86 จุด หรือ -0.62%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,765.98 จุด ลดลง 17.85 จุด หรือ -0.37% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,944.35 จุด ลดลง 28.41 จุด หรือ -0.19%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 2,893.99 จุด เพิ่มขึ้น 7.70 จุด หรือ +0.27%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 2,893.99 จุด เพิ่มขึ้น 7.70 จุด หรือ +0.27%
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ. ลดลง 21.40 ดอลลาร์ หรือ 1.04% ปิดที่ 2,030.20 ดอลลาร์/ออนซ์
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.พ. ลดลง 28 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 72.40 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,401.72 ลบ 5.30 จุด (-0.38%)  Trading Volume: 39,472.36 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพลังงาน (+0.14%) ตามด้วยกลุ่มธนาคาร (-0.74%) และกลุ่มพาณิชย์ (-0.90%) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 834.37 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับขึ้น 1-2 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับขึ้น 1 bp
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับขึ้น 1 bp
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับขึ้น 1 bp
      • IRS SWAP ปิดปรับขึ้น 1-2 bps 
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 42,285.37 ล้านบาท  นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4,208.38 ล้านบาท
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน