สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
17/04/2567

ปัจจัยสำคัญ

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ภาพรวมในช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมา มีการปรับฐานจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสูง จากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทั้งในภาคการบริโภคและการผลิต ภาวะความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ผลประกอบการที่น่าผิดหวังของธนาคารใหญ่อย่าง เจพีมอร์แกน เชส (JPM) ที่ระบุว่ารายได้จากดอกเบี้ยปีนี้น่าจะทรงตัว ทางการจีนสั่งให้ 3 บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ China Mobile China Unicom และ China Telecom ใช้ชิปที่ผลิตในประเทศเท่านั้นภายในปี 2027 และการออกมาให้ความเห็นในเชิงว่าไม่ควรรีบลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปจากบรรดากรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) หลายท่าน
  • จากปัจจัยกดดันข้างต้นนี้ทำให้ในช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมานั้น Dow Jones ปรับตัวลง 662.54 จุด (-1.72%) ซึ่งทำระดับต่ำสุดตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2567 ส่วน S&P500 ปรับตัวลง 109.25 จุด (-2.12%) และ Nasdaq ปรับตัวลง 305.11 จุด (-1.89%) โดยทั้ง 2 ดัชนีทำระดับต่ำสุดตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ. 2567
  • ตลาดหุ้นยุโรป STOXX 600 ปรับตัวลงเช่นกัน โดยที่มีปัจจัยเฉพาะตัวเพิ่มเติม คือ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่คงดอกเบี้ยไว้ตามเดิม และยังส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. ซึ่งตลาดรับรู้อยู่แล้ว แต่ ECB ไม่ได้มีการส่งสัญญาณแนวโน้มนโยบายหลังจากเดือน มิ.ย. ทำให้ตลาดค่อนข้างผิดหวัง โดยในช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมานั้น STOXX 600 ปรับตัวลง 6.34 จุด (-1.26%) โดยเป็นการลบจากเมื่อวานนี้ (16 เม.ย.) 7.72 จุด (-1.53%)
  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่น Nikkei ภาพรวมในช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมา ตลาดมีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยตลาดปิดลบแรงร่วม 1,100 จุด หรือประมาณ -2.81% ปัจจัยกดดันหลักมาจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสูง ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดอาจตรึงดอกเบี้ยสูงเป็นระยะเวลานาน รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจยกระดับมากขึ้น
  • ตลาดหุ้นจีน Shanghai Composite ภาพรวมในช่วง 4 วันทำการที่ผ่านมา มีทิศทางที่ไม่ชัดเจนมากนัก เพราะยังมีความไม่แน่นอนหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่อ่อนแอ การส่งออกที่หดตัวมาก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ราคาบ้านใหม่ยังลดลงต่อเนื่อง การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง
  • ตลาดหุ้นไทย SET ปรับตัวลงราว 11 จุด ในวันทำการสุดท้าย (11 เม.ย.) ก่อนปิดทำการยาว สาเหตุมาจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯในขณะนั้น ซึ่งสอดคล้องกับตลาดในภูมิภาค

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

  • ตลาดหุ้นเข้าสู่ช่วงปรับฐานหลังจากปัจจัยมหภาคค่อนข้างกดดัน โดยเฉพาะ Bond Yield ที่ปรับตัวขึ้นใกล้เคียงระดับ 4.7% จากตัวเลขเศรษฐกิจทั้งภาคการบริโภคและการผลิตที่ออกมามากกว่าคาด นอกจากนั้นยังมีภาวะความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่พร้อมยกระดับในทุกเมื่อจากอิหร่านและอิสราเอล ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ที่ธนาคารขนาดใหญ่สหรัฐฯ ออกมาค่อนข้างมีตำหนิโดยเฉพาะเรื่องรายได้ดอกเบี้ย และคุณภาพของสินทรัพย์ ทั้งนี้ปัจจัยที่อาจเข้ามาช่วยตลาดได้คือการรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยที่วันนี้เป็นคิวของ บริษัทเอเอสเอ็มแอล โฮลดิ้ง (ASML) ผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตชิป
  • เรามองว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นเกิดขึ้นได้ หลังจากช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนหุ้นโลกอีกครั้งหนึ่ง และเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนตราสารหนี้โลกในช่วงที่ Yield ปรับตัวสูงขึ้น

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,798.97 จุด เพิ่มขึ้น 63.86 จุด หรือ +0.17%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,051.41 จุด ลดลง 10.41 จุด หรือ -0.21% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,865.25 จุด ลดลง 19.77 จุด หรือ -0.12%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 498.21 จุด ลดลง 7.72 หรือ -1.53%
    • ดัชนีนิกเกอิปิดที่ระดับ 38,471.20 จุด ลดลง 761.60 จุด หรือ -1.94%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,007.07 จุด ลดลง 50.31 จุด หรือ -1.65%
    • ดัชนี S&P BSE Sensex ปิดตลาดที่ 72,943.68 จุด ลบ 456.10 จุด หรือ -0.62%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ค. ลดลง 5 เซนต์ หรือ 0.06% ปิดที่ 85.36 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 24.80 ดอลลาร์ หรือ 1.04% ปิดที่ 2,407.80 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,396.38 ลบ 11.79 จุด (-0.84%) Trading Volume: 42,973.84 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มธนาคาร (+0.64%) ตามด้วยกลุ่มพลังงาน (-0.93%) และกลุ่มพาณิชย์ (-0.55%)  นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,816.30 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับขึ้น 1-11 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับขึ้น 1-11 bps
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับขึ้น 7-11 bps
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับขึ้น 3-9 bps
      • IRS SWAP ปิดปรับขึ้น 5-14 bps     
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 64,165 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,666 ล้านบาท
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนใน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน