Hawkish กับ Dovish คืออะไร เกี่ยวข้องกับแนวโน้มผลตอบแทนของตราสารหนี้อย่างไร


โดยศิริพร  สินาเจริญ, CFA  กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี


สำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบการลงทุนที่ค่อนข้างมีความมั่นคงปลอดภัย ส่วนใหญ่จะพิจารณาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ หลายท่านอาจมีคำถามว่าจะสามารถวิเคราะห์แนวโน้มผลตอบแทนของตราสารหนี้ได้อย่างไร ในบทความนี้จะกล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์แนวโน้มผลตอบแทนของตราสารหนี้ นั่นก็คือ “แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในแต่ละประเทศ” โดยเฉพาะของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกา  

เมื่อเราพูดถึง นโยบายการเงินของธนาคารกลางจะพบว่ามี 3 ประเด็นที่ธนาคารกลางจะเป็นผู้คอยกำกับดูแล ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย และปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางจะใช้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือในการควบคุมปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ หรือเพื่อกำหนดเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมถึงการรักษาระดับของเงินเฟ้อในประเทศ 

ในกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางมองว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวในอนาคต ก็จะทำการออกมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือขายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อดูดสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือการใช้นโยบายการเงินแบบหดตัว (Contractionary Monetary Policy) ผ่านแนวคิดแบบ Hawkish  มาจากคำว่า Hawk หรือ เหยี่ยว      ซึ่งแสดงถึงความดุดัน ก้าวร้าว และไม่ประนีประนอม

ในทางตรงกันข้าม หากคณะกรรมการนโยบายการเงินมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่เร่งตัวหรือจะหดตัวลงในอนาคตก็จะทำการลงมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือการใช้นโยบายการเงินแบบขยายตัว (Expansionary Monetary Policy)  ผ่านแนวคิดแบบ Dovish มาจากคำว่า Dove นกพิราบ สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ซึ่งแสดงถึงความประนีประนอม ยืดหยุ่น อะลุ่มอล่วย  ซึ่งเป็นแนวคิดที่สวนทางกันกับ Hawkish นั่นเอง

เมื่อเราเข้าใจความหมายของคำว่า Hawkish และ Dovish แล้ว ก็มาวิเคราะห์กันต่อว่าถ้าธนาคารกลางมีแนวคิด แบบ Hawkish หรือ Dovish จะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้อย่างไร   หากเราวิเคราะห์ว่าธนาคารกลางน่าจะมีแนวคิด Hawkish นั่นหมายถึง ธนาคารกลางคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวในอนาคต จึงทำการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงเพราะธุรกิจจะกู้เงินน้อยลงเพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น และธนาคารกลางยังทำการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเพื่อดูดเงินในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้สูงขึ้นตามไปด้วย  ซึ่งจะไม่ดีต่อการถือครองตราสารหนี้ในพอร์ตการลงทุน เพราะเวลาคำนวณราคาตลาด หรือที่เรียกว่า Mark to Market แล้วราคาก็จะลดลง 

ในทางกลับกันหากเรามีมุมมองว่าธนาคารกลางน่าจะมีแนวคิดแบบ Dovish นั่นก็คือธนาคารกลางคิดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวหรือหดตัวในอนาคตและเพื่อไม่ให้เกิดสภาวะเงินฝืด ธนาคารกลางก็จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งก็จะเป็นแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจและประชาชนกู้เงินมาทำธุรกิจหรือกู้เงินมาใช้จ่ายอุปโภคบริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังทำการซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง ทำให้ตลาดมีสภาพคล่องพร้อมแก่การเติบโตในอนาคต ในเมื่อต้นทุนทางการเงินในระบบเศรษฐกิจต่ำลง ผลตอบแทนตราสารหนี้ก็จะต่ำลง ทำให้ราคาตลาด Mark to Market ของตราสารหนี้ที่นักลงทุนถืออยู่มีราคาที่สูงขึ้นนั่นเอง

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะเลือกใช้แนวคิด Hawkish หรือ Dovish ประกอบด้วย ปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายๆอย่าง เช่น แนวโน้มตัวเลข GDP  อัตราเงินเฟ้อ แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน และตัวเลขการจ้างงาน เป็นต้น  นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีผลต่อเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเมื่อธนาคารกลางปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็จะทำให้อัตราผลตอบแทนภายในประเทศโดยรวมดูดีขึ้น ก็จะสามารถดึงเงินหรือป้องกันการไหลออกของเงินนักลงทุนต่างชาติได้ดีขึ้นเช่นกัน  ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆมีแนวโน้มแข็งค่า ในทางตรงกันข้ามหากธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงนักลงทุนต่างชาติก็มองว่าอาจจะมีประเทศอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าก็จะทำการเอาเงินออกจากประเทศนั้นๆ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งประเด็นตรงนี้อาจจะเป็นผลดีต่อกลุ่มธุรกิจที่มีการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศ

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว