สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
26/06/2566

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดลบในวันที่ 23 มิ.ย. เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อสภาคองเกรสว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่จะเป็นการดำเนินการอย่างระมัดระวัง อีกทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาชะลอตัว
  • นางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโกเปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ในวันศุกร์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอีก 2 ครั้งในปีนี้เป็นการคาดการณ์ที่สมเหตุสมผลอย่างมาก และได้ย้ำถึงข้อเรียกร้องของนายพาวเวลที่ให้ระมัดระวังมากขึ้นในการกำหนดนโยบายการเงิน
  • นายทอม บาร์กิ้น ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี 22 มิ.ย. ว่า เขาไม่เชื่อว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% แต่ระบุว่า เขาจะไม่คาดการณ์ผลการประชุมของเฟดในเดือน ก.ค.
  • เครื่องมือ FedWatch tool ของ CME บ่งชี้ว่า ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า มีโอกาส 74.4% ที่เฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือน ก.ค.
  • เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.0 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. จากระดับ 54.3 ในเดือน พ.ค. อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐมีการขยายตัว โดยได้ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยดัชนี PMI ได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน แต่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน
  • ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 46.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 48.4 ในเดือน พ.ค. และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 54.9 ในเดือน พ.ค.
  • เฟดสาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่าแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.9% ในไตรมาส 2/2566 หลังจากขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันที่ 23 มิ.ย. โดยถูกกดดันจากแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกนาน อีกทั้งการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่า การขยายตัวทางธุรกิจของยูโรโซนชะงักงันในเดือน มิ.ย. เนื่องจากการผลิตชะลอตัวลงรุนแรงขึ้น
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) แบบรวมของยูโรโซนในเบื้องต้นลดลงสู่ 50.3 ในเดือน พ.ค. จาก 52.8 ในเดือน เม.ย. โดย PMI ภาคบริการลดลงสู่ 52.4 จาก 55.1 และ PMI ภาคการผลิตลดลงสู่ 43.6 จาก 44.8
  • ตลาดวิตกว่าธนาคารกลางรายใหญ่ต่าง ๆ จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อาทิ ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางนอร์เวย์ และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งวิตกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอันเนื่องมาจากผลกระทบของวงจรการคุมเข้มนโยบายการเงิน และกังวลว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะถดถอยหลังธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%
  • PMI แบบรวมของญี่ปุ่น ในเบื้องต้นลดลงสู่ 52.3 ในเดือน พ.ค. จาก 54.3 ในเดือน เม.ย. โดย PMI ภาคการผลิตร่วงลงสู่ 49.8 จาก 50.6 และ PMI ภาคบริการลดลงสู่ 54.2 จาก 55.9  ทางด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นที่ไม่รวมหมวดอาหารสดแต่รวมหมวดพลังงานเพิ่มขึ้น 3.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือน เม.ย. ซึ่งผิดไปจากที่ตลาดคาดว่าอาจชะลอลงสู่ 3.1%  ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมทั้งหมวดอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 4.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน พ.ค. เร่งตัวขึ้นจาก 4.1% ในเดือนก่อนหน้า 
  • ตลาดหุ้นไทยวันที่ 23 มิ.ย. ซื้อขายในแดนลบเกือบตลอดทั้งวัน ปิดปรับตัวลดลง ทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นในภูมิภาค หลังประธานเฟดย้ำว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป และธนาคารกลางอังกฤษประกาศขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มกลับมากังวลเกี่ยวกับการเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ อีกทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อออกมาเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ตลาดหุ้นแกว่งตัวอยู่ในกรอบจำกัด

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,727.43 จุด ลดลง 219.28 จุด หรือ -0.65%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,348.33 จุด ลดลง 33.56 จุด หรือ -0.77% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,492.52 จุด ลดลง 138.09 จุด หรือ -1.01%
    • ในรอบสัปดาห์นี้ โดยดัชนีดาวโจนส์ลดลง 1.7%, ดัชนี S&P500 ลดลง 1.4% และดัชนี Nasdaq ลดลง 1.4%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ระดับ 453.14 จุด ลดลง 1.56 จุด หรือ -0.34%
    • ตลาดหุ้นจีนปิดทำการวันที่ 23 มิ.ย. เนื่องในเทศกาลแข่งเรือมังกรหรือวันไหว้บ๊ะจ่าง
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ส.ค. ลดลง 0.35 ดอลลาร์ หรือ 0.50% ปิดที่ 69.16 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวลง 3.9% ในรอบสัปดาห์นี้
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 5.90 ดอลลาร์ หรือ 0.31% ปิดที่ 1,929.60 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ลดลง 2.1% ในรอบสัปดาห์นี้
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,505.52 ลบ 3.79 จุด (-0.25%)  Trading Volume: 33,576.48 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพลังงาน (+0.44%) ตามด้วยกลุ่มไอซีที (-0.06%) กลุ่มธนาคาร (-0.05%) และกลุ่มพาณิชย์ (-0.78%)  นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 594.34 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดแกว่งตัว 1 bp แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดแกว่งตัว 1 bp
      • อายุ >5-10 ปี ปิดแกว่งตัว 1 bp
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดแกว่งตัว 1 bp
      • IRS SWAP ปิดปรับลดลง 1 bp       
    • นักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 23,976.18 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,810.94 ล้านบาท 
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นคุณภาพสูงทั่วโลก
คลิก: KFGBRAND-A | KFGBRAND-D | KFGBRANSSF | KFGBRANRMF 
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน