สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
13/03/2567

ปัจจัยสำคัญ 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐทั้ง 3 ดัชนีหลักปิดบวก โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดบวกกว่า 200 จุดในวันอังคาร (12 มี.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อหุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมาร์เก็ตแคปสูง ซึ่งรวมถึงหุ้นอินวิเดีย และหุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือน ก.พ. วานนี้ (12 มี.ค.) โดยดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.1% จากระดับ 3.1% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือน ม.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.9% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.4% ในเดือน ม.ค.
  • เจฟฟรีย์ โรช นักวิเคราะห์จากบริษัท LPL Financial กล่าวว่า ตัวเลข CPI ที่มีการเปิดเผยนี้ไม่ได้ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลมากเกินไปว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. แม้ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเส้นทางที่เฟดจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ยังคงไม่แน่นอน
  • FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 70% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย. ซึ่งขยับลงเล็กน้อยจากระดับ 71% ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI
  • หุ้นออราเคิล พุ่งขึ้น 11.7% และเป็นปัจจัยหนุนดัชนี S&P500 ปิดทำ New High หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรที่สูงเกินคาดในเดือน ธ.ค.66 - ก.พ.67 ซึ่งเป็นไตรมาส 3 ของปีงบการเงินบริษัท โดยได้แรงหนุนจากรายได้ของธุรกิจคลาวด์
  • หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้น โดยหุ้นอินวิเดียทะยานขึ้นกว่า 7% หุ้นไมโครซอฟท์พุ่งขึ้น 2.6% และหุ้นเมตาพุ่งขึ้น 3.3%
  • นักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือน ก.พ. ของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ (14 มี.ค.) เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก่อนที่การประชุมนโยบายการเงินของเฟดจะมีขึ้นในวันที่ 19-20 มี.ค.
  • นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน มี.ค. จากเฟดนิวยอร์ก การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกแตะที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นำโดยหุ้นกลุ่มรถยนต์และกลุ่มธนาคาร ขณะที่นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือน มิ.ย. หลังจากการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อ
  • ดัชนี STOXX 600 ยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย. หลังเงินเฟ้อชะลอตัวลงในยูโรโซนในช่วงที่ผ่านมา
  • หุ้นกลุ่มรถยนต์ของยุโรปพุ่งขึ้น 2.4% โดยได้แรงหนุนจากหุ้นปอร์เช่ที่ทะยานขึ้น 11.5% แม้คาดการณ์กำไรปีนี้อาจลดลงก็ตาม ด้านหุ้นกลุ่มธนาคารที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย พุ่งขึ้น 1.9%
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยข้อมูลในวานนี้ (12 มี.ค.) ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ. ของเยอรมนีที่ถูกปรับให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (HICP) ชะลอตัวสู่ระดับ +2.7% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับข้อมูลประมาณการเบื้องต้น โดยลดลงจากระดับ +3.1% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี HICP ของเยอรมนีในเดือน ก.พ.อยู่ที่ +0.6% สอดคล้องกับข้อมูลประมาณการเบื้องต้น พลิกจากระดับของเดือน ม.ค. ที่ -0.2%
  • ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดลบเล็กน้อย โดยช่วงเช้านิกเกอิร่วงไปเกือบ 550 จุด โดยดัชนีเผชิญแรงเทขายหุ้นชิปและหุ้นเทคโนโลยี หลังหุ้นกลุ่มเดียวกันที่ตลาดสหรัฐร่วงลงในวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี นิกเกอิลดช่วงลบในช่วงบ่าย หลังจากที่นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณในระหว่างการแถลงต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาของญี่ปุ่นว่า BOJ อาจจะยังไม่ยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมเดือน มี.ค. นี้ ส่งผลให้สกุลเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และหุ้นกลุ่มส่งออก เช่น โซนี่ กรุ๊ป และนิสสัน มอเตอร์ กลับเข้าสู่แดนบวก อย่างไรก็ตาม นิกเกอิดีดตัวขึ้นไม่ถึงแดนบวก เนื่องจากนักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐลงเมื่อใด
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานวานนี้ (12 มี.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน ก.พ. 67 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจอยู่ที่ 0.1% และสูงกว่าระดับ 0.0% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนี PPI ของญี่ปุ่นในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 0.6% ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาด แต่สูงกว่าระดับ 0.2% ในเดือน ม.ค.
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดลบ เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไร พร้อมกับรอดูการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่จากรัฐบาลจีน
  • นายหวัง หยิง นักวิเคราะห์จากบริษัทหนานหัว ฟิวเจอร์ส์กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วข้อมูลเศรษฐกิจและการเปิดเผยนโยบายเมื่อไม่นานมานี้มีความสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด และหากรัฐบาลจีนไม่มีการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือน มี.ค. ตลาดหุ้นจีนก็อาจจะได้รับผลกระทบจากข้อมูลในต่างประเทศ
  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศอัดฉีดเงิน 1 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เข้าสู่ระบบการเงินในวานนี้ (12 มี.ค.) ผ่านข้อตกลง reverse repo ประเภทอายุ 7 วัน โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 1.8% การอัดฉีดเงินสดครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะรักษาสภาพคล่องในระบบธนาคารให้มีเสถียรภาพอย่างเหมาะสม
  • ตลาดหุ้นไทยปิดลบโดยดัชนีแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ทั้งในแดนบวกและลบ ปิดปรับตัวลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคส่วนใหญ่ปิดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงรอดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟด คงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (bond yield) กลับมายืนเหนือระดับ 4.1% อีกครั้ง เป็นโอกาสทยอยสะสมกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก เพื่อคาดหวังผลตอบจากส่วนต่างราคา (capital gain) หากเฟดปรับลดดอกเบี้ยลงในปีนี้

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,005.49 จุด เพิ่มขึ้น 235.83 จุด หรือ +0.61%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,175.27 จุด เพิ่มขึ้น 57.33 จุด หรือ +1.12% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,265.64 จุด เพิ่มขึ้น 246.36 จุด หรือ +1.54%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 506.52 จุด เพิ่มขึ้น 5.03 จุด หรือ +1.00%
    • ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 38,797.51 จุด ลดลง 22.98 จุด หรือ -0.06%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,055.94 จุด ลดลง 12.52 จุด หรือ -0.41%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน เม.ย. ลดลง 37 เซนต์ หรือ 0.47% ปิดที่ 77.56 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน เม.ย. ลดลง 22.50 ดอลลาร์ หรือ 1.03% ปิดที่ 2,166.10 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,379.63 ลบ 0.60 จุด (-0.04%) Trading Volume: 40,987.46 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพลังงาน (-0.26%) ตามด้วยกลุ่มพาณิชย์ (-0.47%) และกลุ่มไอซีที (+0.43%)  นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 200.46 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดแกว่งตัว 1-3 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดแกว่งตัว 1 bp
      • อายุ >5-10 ปี ปิดแกว่งตัว 1 bp
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับลดลง 1-3 bps
      • IRS SWAP ปิดปรับลดลง 1-2 bps
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 40,540.49 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,794.12 ล้านบาท
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศคุณภาพดี
คลิก:
KFSINCFX-A | KF-CSINCOM | KF-SINCOME | KFSINCRMF
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน