สรุปภาวะตลาดรายวัน


บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
04/04/2567

ปัจจัยสำคัญ

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดผสมผสาน โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันพุธ (3 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณไม่เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย
  • ช่วงแรกตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากความหวังที่ว่าเฟดจะเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 51.4 ในเดือน มี.ค. จากระดับ 52.6 ในเดือน ก.พ. โดยดัชนีภาคบริการเดือน มี.ค. ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และลดลงสู่ระดับต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 52.7
  • ตลาดลดช่วงบวกในเวลาต่อมา หลังจากนายพาวเวลยังคงย้ำจุดยืนในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) ว่า เฟดจะไม่เร่งรีบในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดในช่วงที่ผ่านมา
  • นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา กล่าวในรายการ Squawk Box ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี เมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) ว่า เขาคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ และจะเกิดขึ้นในไตรมาส 4/2567 พร้อมกับกล่าวว่าประสิทธิภาพการผลิตที่แข็งแกร่ง และการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงช้ากว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ความเห็นของนายบอสติกสวนทางกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเฟดเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้
  • ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 184,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 148,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 155,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ.
  • ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก หลังสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลภาคบริการที่อ่อนแอกว่าคาด และเงินเฟ้อยูโรโซนที่ลดลงตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
  • บาร์เคลยส์ปรับเพิ่มคาดการณ์เป้าหมายดัชนี STOXX 600 สิ้นปีนี้อยู่ที่ระดับ 540 จุด จาก 510 จุด โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย     หุ้นราคาถูก และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
  • ตลาดได้แรงหนุนจากข้อมูลเงินเฟ้อยูโรโซนที่ลดลง โดยตัวเลขเบื้องต้นที่เผยแพร่ในวันพุธ (3 เม.ย.) ระบุว่า เงินเฟ้อในยูโรโซนชะลอตัวสู่ระดับ 2.4% ในเดือน มี.ค. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะทรงตัวที่ระดับ 2.6% ส่วนอัตราการว่างงานของยูโรโซนทรงตัวที่ 6.5% ในเดือน ก.พ.
  • นายปาโบล เฮอร์นันเดซ เด คอส กรรมการ ECB เปิดเผยหลังการรายงานข้อมูลดังกล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. ขณะที่ตลาดคาดว่า ECB จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลงในการประชุมสัปดาห์หน้า แต่คาดว่ามีโอกาส 71% ที่ ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน มิ.ย.
  • ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดลบ โดยหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลงตลอดทั้งวัน หลังหุ้นเทคโนโลยีฉุดตลาดตามทิศทางของดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ดิ่งลงเมื่อวันก่อนหน้า (2 เม.ย) นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังลดลงจากการร่วงของดัชนีฟิวเจอร์หุ้นสหรัฐฯ ด้วย
  • นายชินโก อิเดะ หัวหน้านักกลยุทธ์ด้านตราสารทุนของสถาบันวิจัย NLI กล่าวว่า ตลาดหุ้นตอบสนองโดยตรงต่อความผันผวนในสหรัฐฯ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มชิปถูกเทขายอย่างหนัก นอกจากนี้ดัชนีนิกเกอิยังร่วงลงมากกว่า 600 จุดในช่วงสั้นๆ ในช่วงเช้า เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่งไต้หวันก่อนเปิดตลาด ซึ่งทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็กพัดเข้าหมู่เกาะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น
  • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดลบ โดยปรับตัวตามทิศทางตลาดหุ้นในเอเชีย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน
  • ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยไฉซินและเอสแอนด์พี โกลบอลระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนขยายตัวรวดเร็วขึ้นในเดือน มี.ค. ขณะที่ธุรกิจใหม่ๆ ในภาคบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ผลสำรวจระบุว่า ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน มี.ค. ของจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 52.7 จากระดับ 52.5 ในเดือน ก.พ. ซึ่งทำสถิติขยายตัวติดต่อกันยาวนานถึง 15 เดือน
  • ตลาดหุ้นไทยปิดลบ โดยแกว่งตัวในกรอบแคบๆ โดยส่วนใหญ่ซื้อขายในแดนลบ ปิดปรับตัวลดลง ทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ต่างปิดร่วงลง และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปิดปรับตัวลงค่อนข้างมากในวันก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเฟดอาจเลื่อนการประกาศลดดอกเบี้ยออกไป หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังอิสราเอลโจมตีสถานฑูตอิหร่านในซีเรีย

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กรุงศรี

ดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 รวมถึงตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนที่ออกมาสูงกว่าคาด สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับนายพาวเวลออกมาย้ำจุดยืนเฟด ว่าจะไม่เร่งรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อจะลงมาสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน เรายังคงแนะนำทยอยสะสมกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก โดยพิจารณาลงทุนเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) ขยับขึ้นมาอยู่ในโซน 4.10% ถึง 4.30% ซึ่งคาดว่ากองทุนจะได้ประโยชน์และผลตอบแทนที่ดี เมื่อดอกเบี้ยปรับลดลงหลังจากนี้

สรุปภาพรวมตลาด

  • ต่างประเทศ
    • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,127.14 จุด ลดลง 43.10 จุด หรือ -0.11%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,211.49 จุด เพิ่มขึ้น 5.68 จุด หรือ +0.11% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,277.46 จุด เพิ่มขึ้น 37.01 จุด หรือ +0.23%
    • ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 510.02 จุด เพิ่มขึ้น 1.45 จุด หรือ +0.29%
    • ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดที่ระดับ 39,451.85 จุด ลดลง 387.06 จุด หรือ -0.97%
    • ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 3,069.30 จุด ลดลง 5.66 จุด หรือ -0.18%
    • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 28 เซนต์ หรือ 0.33% ปิดที่ 85.43 ดอลลาร์/บาร์เรล
    • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 33.2 ดอลลาร์ หรือ 1.45% ปิดที่ 2315.0 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ในประเทศ
    • SET ปิดที่ 1,375.69 ลบ 3.77 จุด (-0.27%) Trading Volume: 41,806.63 ล้านบาท – มูลค่าการซื้อขายน้อย โดยตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายมากที่สุดในหุ้นกลุ่มพลังงาน (+0.36%) ตามด้วยกลุ่มธนาคาร (-0.69%) และกลุ่มพาณิชย์ (+0.72%)  นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,590.15 ล้านบาท
    • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปิดปรับขึ้น 1-4 bps แบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
      • อายุ 1-5 ปี ปิดปรับขึ้น 1-2 bps
      • อายุ >5-10 ปี ปิดปรับขึ้น 1-3 bps
      • อายุ >10 ปีขึ้นไป ปิดปรับขึ้น 1-4 bps
      • IRS SWAP ปิดปรับขึ้น 1-3 bps    
    • นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 13,036.62 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 666.30 ล้านบาท  
ที่มา: Bloomberg, Econaday, KSS, Ryt9
 
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศคุณภาพดี
คลิก:
KFSINCFX-A | KF-CSINCOM | KF-SINCOME | KFSINCRMF
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สำหรับกองทุน SSF/RMF/LTF/Thai ESG ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน|สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศที่กองทุนไปลงทุนได้ | เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือและความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ย้อนกลับ


ลงทุนในกองทุนรวมบลจ.กรุงศรี

บลจ.กรุงศรีมีกองทุนรวมหลายประเภทให้เลือกลงทุนสำหรับทุกเป้าหมายการลงทุน