เศรษฐกิจโลกน่าห่วงแค่ไหน


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด

 
ในช่วงนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ออกมาไม่ค่อยดีนัก ส่งผลให้นักลงทุนจำนวนมากกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง  โดยนักวิเคราะห์บางส่วนชี้ไปที่การเกิดภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น หรือ “inverted yield curve” ว่าเป็นสัญญาณว่าอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอีก 1 – 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาเมื่อเกิด inverted yield curve ก็มักจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมา เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจะส่งผลให้ธนาคารกลางต้องปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นักลงทุนจึงเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลง  ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองในมุมของวัฏจักรเศรษฐกิจที่มักจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทุกๆ 10 ปี

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางท่านอธิบายเหตุผลของการเกิด inverted yield curve ในช่วงที่ผ่านมาว่า เกิดจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศเศรษฐกิจหลักหลายประเทศอยู่ในระดับต่ำนานเกินไป เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นและเยอรมนีอายุ 10 ปีอยู่ที่ใกล้ 0% ส่งผลให้นักลงทุนหรือกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรของประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า จึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง

ในความเป็นจริงแล้ว มีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นทุกปี แต่หลายๆวิกฤตอาจไม่ได้กระทบมาถึงไทย เช่น วิกฤตการเงินของตุรกีในปี 2544 วิกฤตการเงินของรัสเซียในปี 2551 และปี 2557 วิกฤตเศรษฐกิจของบราซิลในปี 2557 เป็นต้น และหากดูสาเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินครั้งสำคัญ ก็มักจะเกิดจากปัญหาหนี้สิน ปัญหาฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์หรือสินค้าบางประเภท รวมถึงการล้มละลายของบริษัทที่มีขนาดใหญ่มากพอที่จะกระทบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

ในส่วนของภาวะหนี้สินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ ณ สิ้นปี 2561 บ่งชี้ว่า หนี้สินของประเทศเศรษฐกิจหลักอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยหนี้ภาครัฐของสหรัฐอยู่ที่ 99% ของจีดีพี และหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 77% ของจีดีพี หนี้ภาครัฐของยูโรโซนอยู่ที่ 87% ของจีดีพี และหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 58% ของจีดีพี หนี้ภาครัฐของจีนอยู่ที่ 48% ของจีดีพี หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 49% ของจีดีพี แต่มีหนี้ของภาคธุรกิจอยู่สูงถึง 164% ของจีดีพี ซึ่งเป็นจุดที่นักวิเคราะห์มักจะแสดงความกังวลว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในจีน แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนได้ทำการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในภาพรวมของปัญหาหนี้สินของประเทศเศรษฐกิจหลัก จึงยังไม่น่าเป็นสาเหตุที่จะส่งผลให้เกิดวิกฤตการเงินได้  สำหรับในส่วนของภาคธนาคาร ก็ถูกคุมเข้มมากขึ้นในหลายๆประเทศ และมีการทดสอบสมมุติฐานภายใต้ภาวะวิกฤต (stress test) อย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะพออุ่นใจได้บ้างว่าภาคธนาคารของหลายๆประเทศมีความแข็งแกร่งเพียงพอ

ในแง่ของการเกิดภาวะฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์หรือสินค้า ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดขึ้น โดยราคาบ้านในประเทศเศรษฐกิจหลักยังคงเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ สวนทางกับการอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา 

จากข้อมูลต่างๆเหล่านี้น่าจะช่วยให้พออุ่นใจได้บ้างว่า เศรษฐกิจโลกยังไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะวิกฤต แต่การที่ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักหลายตัวออกมาอ่อนแอ เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเพียง 20,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ยอดส่งออกของจีนที่ร่วงลงกว่า 20% ในเดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกเติบโตในอัตราที่ชะลอลง  โดยสาเหตุหลักของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมาจากสงครามการค้าซึ่งส่งผลให้การค้าในตลาดโลกชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่อความเขื่อมั่นของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

แต่อย่างไรก็ดี สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปข้างหน้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของสหรัฐในทุกๆปีมักจะเป็นไตรมาสที่อ่อนแอที่สุด เนื่องจากมักจะได้รับผลกระทบจากพายุหิมะ กอปรกับในปีนี้มีปัจจัยลบจากการปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานภาครัฐที่ยาวนานที่สุด จึงอาจส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจผิดเพี้ยนไปจากพื้นฐานที่แท้จริง ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ มักจะได้รับผลกระทบจากวันหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งทำให้ภาพรวมผิดเพี้ยนไปเช่นกัน 

โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจโลกยังไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะวิกฤตในเร็วๆนี้ แต่การเติบโตอาจชะลอลง ทั้งนี้ นักลงทุนควรติดตามข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น เข่น การที่อังกฤษขอออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป สงครามการค้าที่สหรัฐอาจพุ่งเป้าไปที่ประเทศอื่นหลังจากจบการเจรจากับจีน เป็นต้น 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว