เฟดจะลดดอกเบี้ยเดือนนี้จริงหรือ


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ. กรุงศรี จำกัด

 
หลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระหว่างวันที่ 18 – 19 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการหลายท่านมีความเห็นว่าควรปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ล่าสุดเทรดเดอร์ในตลาดคาดว่ามีโอกาส 100% ที่เฟดจะประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในวันที่ 30 – 31 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

 แต่อย่างไรก็ดี หากดูจากคาดการณ์ของเฟดแล้ว เฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ที่ระดับเดิมในปีนี้ และอาจปรับลงในปีหน้า แต่อาจปรับกลับขึ้นสู่ระดับปัจจุบันในปี 2564 ซึ่งผิดไปจากแนวทางปกติของเฟดที่มักจะไม่ปรับเปลี่ยนทิศทางดอกเบี้ยเร็วนัก  นอกจากนี้ เฟดยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ไว้ที่ 2.1% และปรับเพิ่มคาดการณ์สำหรับปีหน้าจากเดิมคาดโต 1.9% เป็นโต 2.0% สะท้อนว่าเฟดยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ในขณะที่คาดการณ์ดัชนีราคาการใช้จ่ายส่วนบุคคลพื้นฐาน ซึ่งเฟดใช้เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อ สำหรับปีนี้ถูกปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.0% เป็น 1.8% และตัวเลขคาดการณ์ปี 2563 ถูกปรับลงจาก 2.0% เป็น 1.9% ซึ่งก็ยังคงอยู่ใกล้เป้าหมายของเฟดที่ 2.0% 

จากคาดการณ์ของเฟดดังกล่าว พอจะประเมินได้ว่า เฟดยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และตัวเลขเงินเฟ้อยังไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวล แต่สาเหตุที่กรรมการหลายท่านเห็นว่าควรปรับลดดอกเบี้ยเนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามการค้าที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และการลงทุนของภาคธุรกิจสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว รวมถึงการเกิด inverted yield curve (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น) ซึ่งข้อมูลในอดีตบ่งชี้ว่า การเกิด inverted yield curve มักเป็นสัญญาณว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต  แต่อย่างไรก็ดี สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐยังไม่เด่นชัดมากนัก ดังนั้นในทางทฤษฎี เฟดจึงยังไม่น่าที่จะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมในช่วงสิ้นเดือนนี้ เพื่อรอดูสัญญาณทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะหากเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป แทนที่จะส่งผลดีก็อาจกลับเป็นส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้

อย่างไรก็ดี เทรดเดอร์ในตลาดยังคงคาดหวังไว้สูงว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้ ถึงแม้ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐที่ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (5 กรกฎาคม 2562) ออกมาดีกว่าที่คาดมาก ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเทรดเดอร์ยังคงคาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐจะแย่ลง มีคณะกรรมการเฟดเกือบครึ่งหนึ่งมองว่าควรประกาศลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ กอปรกับมีแรงกดดันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่เรียกร้องให้เฟดประกาศลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเตรียมเสนอชื่อนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ รองประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ และนางจูดี้ เชลตอน อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจในช่วงที่นายทรัมป์รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี เข้าเป็นกรรมการเฟดใน 2 ตำแหน่งที่ยังคงว่างอยู่ ซึ่งเทรดเดอร์มองว่าทั้ง 2 ท่านนี้จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการประกาศลดดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ เคยเขียนบทความเกี่ยวกับสัญญาณอันตรายจาก inverted yield curve และนางจูดี้ เชลตอนเคยให้สัมภาษณ์ว่า หากเธอเป็นคณะกรรมการเฟด เธอจะประกาศลดดอกเบี้ยลงสู่ 0% ภายใน 1 – 2 ปี

จะเห็นได้ว่าความคาดหวังของเทรดเดอร์ส่วนใหญ่มาจากแรงจูงใจที่ไม่สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในปัจจุบันเท่าใดนัก ในขณะที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าบุคคลทั้ง 2 ท่านที่นายทรัมป์จะเสนอให้เข้าไปเป็นคณะกรรมการเฟดจะได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เนื่องจากก่อนหน้านี้นายทรัมป์ได้เสนอชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาแล้ว 4 ท่าน แต่ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาทั้ง 4 ท่าน

ดังนั้น จึงมีโอกาสสูงมากที่เฟดจะสร้างความผิดหวังให้แก่ตลาด โดยไม่ประกาศลดดอกเบี้ยในการประชุมในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้  ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะทยอยลดความคาดหวังของตลาดเกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยก่อนที่จะมีการประชุมในช่วงสิ้นเดือน โดยเฟดจะขอรอดูข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อดูความชัดเจนของทิศทางเศรษฐกิจ แต่อาจจะยังคงสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยต่อไปหากมีความจำเป็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดว่าเฟดพร้อมที่จะดำเนินนโยบายใดๆเพื่อรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ถึงแม้เทรดเดอร์ยังคงมีความคาดหวังสูงต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด แต่ตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นได้เริ่มทยอยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการที่เฟดไม่ประกาศลดดอกเบี้ยอย่างที่คาดหวังไว้  ดังนั้น ผลตอบแทนการลงทุนในช่วงนี้จึงอาจมีความผันผวนมากขึ้น นักลงทุนจึงควรพิจารณาถึงความเสี่ยงต่างๆเหล่านี้เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว