ครบกำหนดแล้วควรขาย LTF เลยดีไหม?


หลังจากช่วงปลายปีที่คนถามกันเยอะว่า “จะซื้อ LTF กองทุนไหนดี” เข้าต้นปีคำถามยอดฮิตจะเปลี่ยนเป็น “จะขาย LTF ที่ครบกำหนดเลยดีมั้ย”

บทความนี้เราจะชวนมาหาคำตอบเรื่องนี้กัน แต่ก่อนที่จะไปต่อ เรามาทบทวนเงื่อนไขการลงทุนของ LTF กันสักเล็กน้อย... 


เงื่อนไขการลงทุนในกองทุน LTF 

เงื่อนไขคือ ลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในปีนั้นหรือไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ผู้ลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน แต่ถ้าใครซื้อปี 2558 หรือก่อนหน้านั้น เกณฑ์คือถือครบ 5 ปีปฏิทินก็จะสามารถขายคืนได้ไม่ผิดเงื่อนไข ดังนั้นในปี 2562 นี้ หน่วยลงทุน LTF ที่ซื้อมาในปี 2558 หรือก่อนหน้า ผู้ลงทุนสามารถขายได้โดยไม่ผิดกฎการรับสิทธิการลดหย่อนภาษี แต่เมื่อครบกำหนดนี้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องขายกองทุน LTF ก็ได้
 
 
ระหว่างการขายคืนเมื่อครบกำหนด กับการถือกองทุนต่อล่ะ แบบไหนจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน? 
เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจเลือกมากขึ้น เรามีคำถาม 3 ข้อสำหรับคุณลองเช็คตัวเอง ดังนี้


คำถามข้อ 1 คุณมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการใช้จ่ายหรือไม่? 

ในอีกแง่หนึ่งคือ หลังจากขายคืนกองทุนแล้ว คุณจะนำเงินที่ได้ไปใช้อะไร? หากคุณมีความจำเป็นที่จะใช้เงินก้อนนี้ หรือมีคำตอบในใจว่าหลังจากขายแล้วจะเอาเงินไปลงทุนอะไรต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ซื้อตราสารหนี้ ประกันชีวิต การขาย LTF ก็เป็นทางเลือกที่ดี
แต่ถ้าคุณไม่ได้มีแผนที่จะใช้เงินก้อนนี้ นำมาฝากออมทรัพย์ไว้เฉยๆ หรือเผลอใช้จ่ายไปจนหมด ก็เท่ากับไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการลงทุนอย่างเต็มที่ เทียบกับการถือ LTF นั้นต่อไปคุณยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนดีๆ ต่อไปอีกด้วย
อีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าต้องการลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน เพราะเห็นว่า LTF มีการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก มีความเสี่ยงสูง คุณอาจสับเปลี่ยนไปลงทุนต่อในกองทุนประเภทอื่นที่ความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น กองทุนผสม หรือกองทุนตราสารหนี้ก็ได้ เงินก็ยังทำงานสร้างดอกผลให้ต่อไป เพียงแต่เมื่อเปลี่ยนมากองทุนที่ความเสี่ยงลดลง โอกาสได้รับผลตอบแทนก็จะน้อยลงด้วย
ดังนั้น ถ้าคุณไม่ได้มีความรีบร้อนเพื่อใช้เงิน และไม่ได้ต้องการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน การถือต่อ LTF ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม
 

คำถามข้อ 2 ผลตอบแทนของกองทุนเป็นอย่างไร?

แน่นอนว่า “ผลตอบแทน” เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างคาดหวังเมื่อตัดสินใจลงทุนนอกเหนือจากสิทธิการลดหย่อนภาษี ก่อนขาย LTF ออกไปเมื่อครบกำหนดเวลา  ลองดูผลตอบแทนที่ผ่านมา ณ ตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร LTF บางกองทุนมีการจ่ายปันผลมาทุกปี พอผู้ลงทุนมาดูยอดเงินลงทุนปัจจุบันเห็นว่าเพิ่มขึ้นไม่เยอะเลย

ผลตอบแทนไม่เห็นดีเท่าไหร่ ลืมไปว่าจริงๆ ตนเองได้รับกำไรเป็นเงินปันผลออกแล้วหลายครั้ง  ต้องรวมเงินปันผลที่รับมาแล้วเข้าไปด้วย ถึงจะรู้ว่าจริงๆ แล้วเงินลงทุนของตนเองโตขึ้นมาเท่าไหร่ หากเห็นว่ากองทุนมีผลตอบแทนย้อนหลังที่ดี และมีแนวโน้มจะไปต่อได้ดี การเลือกถือ LTF หลังจากครบกำหนด จะเป็นโอกาสเพิ่มกำไรเข้ากระเป๋าคุณได้มากกว่าการขายคืนออกมาเก็บเงินสดไว้
ในทางตรงกันข้าม ถ้าผลตอบแทนของกองทุนไม่น่าพอใจ ก็อาจพิจารณาว่าจะถือต่อไปดีมั้ย ถ้านโยบายของกองทุนนี้ยังน่าสนใจอยู่ และมีแนวโน้มจะสร้างกำไรในอนาคต คุณก็อาจจะถือต่อเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการได้เช่นกัน แต่ถ้าคิดว่ามีกองทุนอื่นที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่า ก็สามารถสับเปลี่ยนไปกองทุนอื่นได้

คำถามข้อ 3 คุณวางแผนการเงินอย่างไรต่อไป?

ถ้าจุดประสงค์หลักของการลงทุน LTF คือการลดหย่อนภาษี ทุกๆ ปีก็ต้องซื้อ LTF เพื่อให้ได้สิทธิ์ลดหย่อนอย่างต่อเนื่อง คุณอาจคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องถือต่อ พอครบระยะเวลาตามเงื่อนไขแล้ว ก็ขายคืนหมุนมาเป็นเงินลงทุนใน LTF ใหม่ในปีนั้น ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นวิธีที่ดี แต่การหมุนเงินแบบนี้ไม่ตอบโจทย์ของการลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาวเพราะไม่ได้สะสมเงินเพิ่มต่อเนื่อง ดังนั้นถ้าคุณใช้ LTF เป็นหนึ่งในเครื่องมือการลงทุนเพื่ออนาคต เช่น การเกษียณ แนะนำให้เตรียมเงินอีกก้อนสำหรับซื้อ LTF ในปีนี้ แล้วก็ถือ LTF ที่ครบต่อไป ให้เงินได้มีโอกาสสะสมเพิ่มพูนไปเรื่อยๆ ดีกว่า

เทคนิคแนะนำ

หากต้องการลดความเสี่ยงจากการลงทุน คุณสามารถสับเปลี่ยนเงินลงทุนจาก LTF ที่ครบกำหนดไปกองทุนเปิดที่ลงทุนในสินทรัพย์อื่นได้ เช่น กองทุนผสมอย่าง KFHAPPPY และ KFGOOD ที่ลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก และมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้น REITs กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก เช่น KFAFIX

 
ก่อนขายคืน LTF ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าจำนวนหน่วยลงทุนที่ถือครบกำหนดตามเงื่อนไขภาษีนั้นมีอยู่จำนวนกี่หน่วย และต้องไม่ขายคืนเกินจำนวนหน่วยนี้ ไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายผิดเงื่อนไขได้ 

ถ้าจะขายคืน LTF ที่ครบกำหนด คุณสามารถทยอยขายได้ ไม่จำเป็นต้องขายคืนหมดทั้งก้อน เมื่อสั่งขายคืนหน่วยลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกำหนดเป็นจำนวนเงินว่าจะขายคืนกี่บาท หรือกำหนดเป็นจำนวนหน่วยก็ตาม หน่วยลงทุนที่จะถูกขายคืนก่อนคือหน่วยลงทุนที่ซื้อก่อน ตามหลักการเข้าก่อนออกก่อน (FIFO-First In First Out) ดังนั้น คุณอาจขายคืนให้ได้เงินเท่าที่จำเป็นต้องใช้ ที่เหลือก็ถือลงทุนต่อไปได้ ซึ่งกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนที่ครบอายุนี้จะไม่ต้องเสียภาษีด้วย (ต่างจากเงินปันผลที่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือนำไปรวมกับรายได้ทั้งหมดเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี)

ในกรณีที่คุณชัดเจนว่าอยากจะลงทุนในระยะยาวอยู่แล้วก็สามารถเลือกที่จะไม่ขาย LTF ได้ ซึ่งเราได้สรุปข้อดีของการถือกองทุนต่อมาให้ดังนี้

ถือต่อกองทุน LTF มีข้อดีอย่างไร? 

1. ยิ่งถือยาวก็ยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนดี 

เนื่องจาก LTF เป็นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก มีความผันผวนสูง การลงทุนระยะสั้นจึงมีความไม่แน่นอน การถือครองในระยะยาวจะทำให้โอกาสขาดทุนลดลงอย่างมาก นอกจากผลตอบแทนแล้ว สำหรับใครที่ลงทุนใน LTF ที่มีนโยบายปันผล ก็มีโอกาสได้รับเงินปันผลไปเรื่อยๆ ระหว่างที่ถือการลงทุนต่อไป 

2. สร้างความมั่นคงในระยะยาว 

ถึงแม้ว่า LTF จะสามารถใช้เพื่อลดหย่อนภาษีได้ แต่อย่ามองว่ากองทุน LTF มีประโยชน์แค่ได้สิทธิทางภาษีเท่านั้น อันที่จริงมันยังเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาวอีกด้วย 
เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเราอายุมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นด้วยตามวัย เช่น ค่าดูแลสุขภาพ เลี้ยงดูครอบครัว ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน เป็นต้น การมีเงินลงทุนสะสมงอกเงยไว้เพื่ออนาคต ย่อมทำให้รู้สึกมั่นคงและปลอดภัยมากกว่า
ขนาดตึกยังมีบันไดหนีไฟ แล้วชีวิตจะไม่มีทางสำรองได้อย่างไร จริงไหม?


สรุป

ถ้าช่วงสิ้นปีเป็นช่วงที่คนนิยมซื้อกองทุน LTF แล้วล่ะก็ ช่วงต้นปีก็คงเป็นช่วงที่มีคนขายคืนกองทุนที่ถือจนครบกำหนดกันไม่ใช่น้อย ก่อนจะตัดสินใจว่าจะขาย LTF ลองพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่ - สถานะการเงิน ความจำเป็นในการใช้เงินตอนนี้ vs. การเก็บเงินลงทุนไว้เพื่อใช้ในอนาคต เป้าหมายการเงินต่อไป รวมถึงผลตอบแทนและแนวโน้มของกองทุน แล้วคุณก็จะตอบตัวเองได้ว่า การขายคืน LTF เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วจริงหรือเปล่า 

อยากเริ่มต้นลงทุน? ศึกษาข้อมูลเพื่อวางแผนการลงทุนกับ บลจ.กรุงศรี ได้โดย คลิกที่นี่ 

ดูคู่มือการลงทุน LTF | RMF ได้ที่นี่

ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน

 

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว