“RMF ตราสารหนี้” กองทุนรวมดีๆ ที่เราต้องมี !!!


ดร. อัจฉรา โยมสินธุ์ 


 
พอขึ้นต้นว่า RMF หลายคนโยงไปถึงคำว่าเกษียณ แล้วก็บอกว่ายังไม่ต้องรีบอ่าน เพราะอายุยังไม่เยอะ อีกตั้งนานกว่าจะเกษียณ ที่ว่านานนั้น นานพอจะมั่นใจว่าจะเก็บเงินไว้มากพอให้ใช้ตอนเกษียณจริงหรือเปล่า  ลองคิดดูเล่นๆ สมมติเราเรียนจบ อายุ 22 ปี แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างเต็มที่จนเกษียณอายุในวัย 60 ปี นับไปนับมา เรามีช่วงระยะเวลาในการทำงาน 38 ปี หรือ 456 เดือน และถ้าเราจะใช้ชีวิตไปจนอายุ 85 ปี เท่ากับว่าจะต้องมีเงินไว้สำหรับใช้หลังเกษียณอีก 300 เดือน!!! แล้วถ้า 300 เดือนในวัยเกษียณนี้ เราต้องการใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท (คิดคร่าวๆ แบบลืมเงินเฟ้อไปก่อน) เราจะต้องมีเงินประมาณ 6 ล้านบาท!!! แสดงว่าใน 456 เดือนนี้นอกจากจะต้องมีรายได้ให้พอใช้ทุกเดือนแล้ว ยังต้องมีเก็บเงินให้ได้ 6 ล้านบาทเพื่อ 300 เดือนหลังเกษียณด้วยนะ ถ้าใครอายุเลย 22 มาแล้ว ก็จะเหลือเวลาทำงานเก็บเงิน 6 ล้านบาทน้อยลงไปอีก หากวันนี้ เรายังไม่ได้เริ่มต้นลงทุน ก็คงต้องเตือนกันสักหน่อยว่า...

 “ระวัง เกษียณปุ๊บ จนปั๊บ ชีวิตหลังเกษียณอาจจะน่ากลัวกว่าชีวิตหลังความตาย!!!” และขอตั้งคำถามต่อไปว่า “300 เดือนหลังเกษียณ เตรียมเงินไว้พอใช้หรือยัง?”   

 
เพราะปัจจุบัน การลงทุน คือ “ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก” อีกต่อไป!!! วันนี้เราจึงต้องเริ่มต้น ททท. = ทำทันที ทางออกทางหนึ่งที่เริ่มต้นทำได้เลย ก็คือ การลงทุนระยะยาวโดยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอแบบมีเป้าหมายเพื่อชีวิตสุขสบายในวัยเกษียณ ซึ่ง RMF หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตอบโจทย์นี้ได้ตรงจุดทีเดียว
RMF เป็นกองทุนรวมที่มีหลายนโยบายให้เลือก ลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้มีโอกาสเติบโตสูงอย่าง หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ที่มั่นคงกว่าอย่างตราสารหนี้

“ตราสารหนี้ (Debt Security)” หลายคนอาจจะไม่คุ้นหู รู้สึกไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยได้ยิน ถ้าจะอธิบายตามหลักวิชาการ “ตราสารหนี้” หรือ “ตราสารแห่งหนี้” ก็คือ ตราสารหรือเอกสารทางการเงินที่แสดงความเป็นหนี้ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยผู้ออกตราสารหนี้จำหน่าย ถือเป็น ลูกหนี้หรือ “ผู้กู้” ที่ขอกู้เงินจากเจ้าหนี้ หรือ “ผู้ให้กู้” ที่เป็นผู้ซื้อหรือผู้ลงทุนในตราสารหนี้นั้น ดังนั้น หากจะเรียกตราสารหนี้ให้เข้าใจได้ง่ายๆ อย่างไม่เป็นทางการ จึงอาจเรียกได้ว่า ตราสารหนี้ ก็คือ สัญญาเงินกู้ รูปแบบหนึ่งนั่นเอง... ในการกู้เงินระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้จะต้องมีการทำสัญญาเงินกู้ ฉันใด การระดมเงินผ่านตราสารหนี้ก็จะต้องมีการระบุรายละเอียดและข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการเป็นหนี้ ฉันนั้น 

กล่าวคือ ตราสารหนี้จะแสดงข้อผูกพันตามกฎหมายว่า เจ้าหนี้ (ผู้ลงทุนในตราสารหนี้) จะได้รับดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ตามสัญญาในอัตราเท่าใด และจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อตราสารหนี้ครบอายุ รวมทั้ง ระบุผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ ที่ลูกหนี้ (ผู้ออกตราสารหนี้) สัญญาจะให้แก่เจ้าหนี้ จะเห็นได้ว่าจุดเด่นของการลงทุนในตราสารหนี้ ก็คือ การได้รับดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอตามสัญญา... โดยทั่วไป ผู้ที่จะระดมเงินทุนโดยการออกตราสารหนี้จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ หากผู้ออก (Issuer) ตราสารหนี้เป็นรัฐบาล องค์กรภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ จะเรียกว่า พันธบัตร (Government bond) แต่ถ้าบริษัทเอกชนเป็นผู้ออกจะเรียกว่า หุ้นกู้ (Corporate bond) ซึ่งในตลาดการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างก็มีการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรและหุ้นกู้อย่างต่อเนื่องทั้งแบบระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 

โดยเฉลี่ยผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนในระดับปานกลางและระดับต่ำ   และแน่นอนระดับความเสี่ยงในการลงทุนก็ไม่สูงมากเช่นกัน ตามกฎการลงทุนที่ว่า “High Risk High Expected Return” ดังนั้น การลงทุนในพันธบัตรภาครัฐ จึงให้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือหุ้นกู้ส่วนใหญ่จะมีการระบุอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ที่เป็นตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจของผู้ลงทุน เพราะอันดับความน่าเชื่อถือจะแสดงระดับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระของ  หุ้นกู้ โดยหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง อย่างเช่น หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ AAA หรือ AA จะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นน้อยกว่าหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB เป็นต้น... 

การลงทุนในตราสารหนี้จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับนักลงทุนที่ต้องการจัดสรรสินทรัพย์ให้มีการ          กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ไม่ลงทุนเสี่ยงสูงอยู่ในหุ้นอย่างเดียว  

 

อย่างไรก็ดี การลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนส่วนใหญ่จะต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 100,000 บาท นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นกู้ แต่มีเงินลงทุนจำนวนไม่มาก หรือยังมีความรู้ ความเข้าใจในการลงทุนในตราสารหนี้ไม่มากพอ อาจจะพิจารณาเลือกลงทุนใน “กองทุนรวมตราสารหนี้” ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว และถ้าจะลงทุนยาวๆ เตรียมเงินไว้ใช้วันเกษียณ “กองทุนรวม RMF ตราสารหนี้” นับเป็นทางออกที่จะตอบโจทย์ข้อนี้ได้ตรงเป้าที่สุด โดยเฉพาะถ้าอยู่ในวัยใกล้ๆ 50 ที่จะลงทุนอีกไม่นานนักก็จะเกษียณแล้ว เงินลงทุนส่วนหนึ่งควรจะอยู่ในตราสารหนี้บ้าง ไม่ใช่ลงทุนในกองทุนหุ้นซึ่งมีความเสี่ยงสูงทั้งหมด 
  • เพราะเริ่มต้นทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีเงินจำนวนมาก ไม่ต้องมีเงินก้อนใหญ่
  • เพราะเป็นการลงทุนต่อเนื่องระยะยาวที่เน้นสะสมไว้เพื่อใช้ในวัยเกษียณ 
  • เพราะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีระหว่างทาง
  • เพราะตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่ควรมีไว้ในพอร์ตการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระดับความเสี่ยงที่ไม่สูง
  • เพราะตราสารหนี้ดีๆ ยังมีอยู่มากมายและกระจายอยู่ทั่วโลก
  • เพราะวินัยในการลงทุน คือ เล็กน้อย + สม่ำเสมอ = ปาฏิหาริย์ 
  • เพราะมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีจากเงินน้อยๆ ของเราที่ทยอยลงทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันนี้ แบบมีมืออาชีพดูแลอย่างใกล้ชิด มีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีข้อมูลจากทั่วโลก 
 
แม้การลงทุนจะมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นกัน และความเสี่ยงในการที่จะ “แก่
ก่อนรวย”  จัดการได้ด้วย “การมีความรู้ที่ถูกต้องในการวางแผนการเงิน” และ “การมีวินัยทางการเงิน” ใครไม่อยากทำงานเหนื่อยยากในวันนี้ และลำบากในวันหน้า คงต้องพิจารณา “กองทุนรวม RMF ตราสารหนี้” ไว้เป็นเพื่อนให้อุ่นใจในวัยเกษียณ ในการวางแผนการเงินที่ดี เราอาจ 

“ไม่ต้องมีมากมาย แต่ต้องมีมากพอ”   

วันนี้ คุณมี “มากพอ” แล้วหรือยัง สำหรับ 300 เดือนหลังเกษียณ?  

     
แนะนำกองทุน KFAFIXRMF (กองทุนเปิดกรุงศรีแอคทีฟตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ )
  •  จุดเด่นของกองทุน : ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Active ผู้จัดการกองทุนจะคัดเลือกตราสารและปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสถานกาณ์ นอกจากนี้ยังสามารถลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศได้ จึงมีโอกาสมากขึ้นในการมองหาตราสารหนี้คุณภาพดีและผลตอบแทนดีจากประเทศต่างๆ ไม่จำกัดแค่ในเมืองไทย สำหรับใครที่รับความเสี่ยงได้น้อย หรือใกล้เกษียณมีระยะเวลาลงทุนอีก 1-2 ปี จะเหมาะสมกับกองทุนนี้ เพราะเน้นความมั่นคงของเงินต้นมากกว่ามุ่งหวังผลตอบแทนสูง
  • เน้นลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน เงินฝาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยตราสารหนี้เอกชนจะเป็นตราสารคุณภาพสูง โดยกว่า 90% มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารที่ระดับ A- ขึ้นไป ( ณ 31 ต.ค.62)
  • ความเสี่ยงระดับ 4 –เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
  • กองทุนจะใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเต็มจำนวน ซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 
ดูข้อมูลกองทุน KFAFIXRMF
 
คำเตือน : 
  • ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงื่อไขการลงทุนใน RMF
  • RMF ลงทุนไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี และไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. และเบี้ยประกันแบบบำนาญแล้วไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
  • ลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ห้ามหยุดลงทุนติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยต้องถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปี และลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • กรณีผิดเงื่อนไขการลงทุนในกองทุน RMF ผู้ลงทุนต้องชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับมาในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีปฎิทิน (นับย้อนหลังตั้งแต่ปีก่อนปีที่ปฎิบัติผิดเงื่อนไข)  และต้องนำเงินผลประโยชน์ ( Capital Gain) ที่ได้จากการขายคืนไปรวมกับเงินได้ เพื่อชำระภาษีตามข้อกำหนดของกรมสรรพากร 
  
RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ | ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนการตัดสินใจลงทุน

พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่ 








สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี  โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว